กองทัพเรือทำการเชิญเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และลากจูงเรือ ไปเก็บที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ วันนี้ ( 2 สิงหาคม 2562 ) เวลา 06.00 น. กองทัพเรือได้ทำการเชิญเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และลากจูงเรือไปเก็บที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ปัจจุบันกองทัพเรือได้เชิญเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ในขบวนเรือพระราชพิธีจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และท่าวาสุกรี มายังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง โดยหลังจากนี้ กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายของเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และในส่วนของเรือลำอื่น ๆ ในริ้วขบวนจะจัดให้มีการฝึกซ้อมบริเวณ วัดราชาธิวาสวิหาร ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดเช่นกัน โดยจะรวมพลในเวลา 08.00 น. ของทุกวัน บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เพื่อเริ่มซ้อมในเวลา 09.00 น. ของทุกวัน ทั้งนี้มีกำหนดการฝึกซ้อมย่อยในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 10 ครั้ง ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2562 - 10 ตุลาคม 2562 และกำหนดการซ้อมใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และ 21 ตุลาคม 2562 ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย และการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มอบภารกิจในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานอนุกรรมการและมีหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่นกรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการคอยให้คำปรึกษาและข้อแนะนำ การปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ โดยการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น จำนวน 52 ลำ โดยมีเรือที่สำคัญเป็นเรือพระที่นั่งได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วยเช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของ คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนเรือพระราชพิธี ทั้ง 52 ลำ นั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 7 ปี ที่ได้ว่างเว้นการจัดขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค โดยกองทัพเรือได้ร่วมกับกรมศิลปากร สำรวจสภาพเรือพระราชพิธีแล้ว มีสภาพชำรุด ทรุดโทรมมาก เช่น เรือมีรอยแตก ตัวเรือบิด เป็นต้น ในการนี้กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการซ่อมทำบูรณะเรือพระราชพิธี โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนการซ่อมตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ และส่วนการตกแต่งตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมบูรณะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ อยู่ในสภาพพร้อม ที่เข้าร่วมพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ ด้านกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกำลังพลจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือจำนวน 2,200 นาย เป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นกำลังพลของกองทัพเรือทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลที่ไม่เคยเป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีมาก่อน และได้มีการฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว และทำการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา โดยเป็นการฝึกซ้อมการเข้ารูปขบวน และการเดินทางเป็นรูปขบวนเดินทางตามลำดับ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงของเรือในขบวนเรือพระราชพิธี มีกำหนดการซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีความพร้อมที่ปฏิบัติงานในวันพระราชพิธีฯ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ที่ได้เตรียมไว้เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึง วัดอรุณราชวราราม โดยการซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนในแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ด้านการเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ เป็นการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้ - ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน - ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก - ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ เรือพระที่นั่งเป็นเรือสำหรับพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันมีเรือพระที่นั่งกิ่ง 3 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (เป็นเรือพระที่นั่งทรง) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (เป็นเรือทรงผ้าไตร) และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 (เป็นเรือพระที่นั่งทรงสำรอง) ซึ่งถือเป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุดในบรรดาเรือพระที่นั่ง ส่วนเรือ พระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ถือเป็นเรือพระที่นั่งศรี ซึ่งเป็นเรือพระที่ลำลองของพระมหากษัตริย์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นใหม่ปลายรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำเดิมทรุดโทรมจนไม่สามารถซ่อมต่อไปได้โดยสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2454 พร้อมทั้ง ประกอบพิธีลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ในปีเดียวกันโดยเปลี่ยนชื่อเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2535 องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร พิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลกประจำ พ.ศ.2535 (The World Ship Trust Maritime Heritage Award 'Suphannahong Royal Barge') จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในขบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลที่ 4 ชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช ส่วนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อทดแทนลำเดิม และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2457 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 โดยกองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากรได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2537 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2539 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เคยเป็นเรือพระที่นั่งทรงเมื่อคราว เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 5 โดยใน พ.ศ.2512 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยงดการเข้าร่วมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อ พ.ศ.2510 เนื่องจากอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก และบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จใน พ.ศ.2515