ปัญหาการนำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นโยบายเป็นภาพฉายใหญ่ที่สะท้อนภาพได้หลายมิติมุมมอง ถือเป็นแก่นสารสาระในการดำเนินกิจการท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน “นโยบายที่กินได้” ของท้องถิ่นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น เพราะ “การปกครองท้องถิ่นคือฐานรากของประชาธิปไตย” ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อปท.เป็น “ปัญหาการนำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ” โดยราชการส่วนภูมิภาคที่รับคำสั่งและนโยบายมาจากราชการส่วนกลาง ได้นำมาใช้กับราชการส่วนท้องถิ่นด้วย เป็นการบริหารราชการที่ทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระ เป็นทัศนคติที่ไม่ดี เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการปกครองท้องถิ่นอย่างร้ายแรง เพราะราชการส่วนท้องถิ่นนั้นจะต้องนำความเดือดร้อนความต้องการของประชาชนในเขตพื้นที่มาเป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่ให้ อปท.ไปนำนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติโดยตรง ถือเป็นทัศนคติที่ผิดหลักการนำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ ด้วยแนวคิดแบบนี้ทำให้งบประมาณท้องถิ่นกว่าร้อยละ 50-60 จึงต้องเสียไปเทศบาลและ อบต.ขนาดเล็กจึงเหลือเม็ดเงินพัฒนาท้องถิ่นแต่ละปีน้อยลง ประเด็นสำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาและการประสานแผนท้องถิ่น ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กำหนดให้ประเด็นการพัฒนาของ อปท.ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดยุทธศาสตร์ชาติ มีข้อดีคือ ทำให้ยุทธศาสตร์ชาติไม่หลงทาง มีข้อเสีย คือท้องถิ่นถูกจำกัดแนวคิดสร้างสรรค์ เพราะ อาจมีแต่เรื่องแนวทางการพัฒนาที่ซ้ำซาก และหากขาดการสื่อสารประสานงานแนะนำยิ่งไม่ดี เมื่อแนวคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัด แน่นอนการสร้างภาพ มโนภาพในการพัฒนาจึงเกิดขึ้น เป็นการทำงานเอาหน้า ที่ขาดความจริงจัง สวนทางกับ “ความมุ่งมั่นในการวิเคราะห์ความเหมาะสม เพื่อการนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องส่วนรวม และเป็นการวางแผนร่วมกันอย่างเปิดเผย อันเป็นหัวใจของการพัฒนาท้องถิ่น” ไม่เกิดในทางปฏิบัติด้วยระบบการจัดสรรโครงการใหญ่ที่ถูกล็อกสเปคถูกสั่งการมาจากต้นทางส่วนกลาง ที่มีการล็อกเป้าหมายไว้แล้ว มีการวิ่งเต้นซื้องานของผู้รับเหมาอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมาก ด้วยความมุ่งหวังให้มีความสอดคล้องนโยบายของท้องถิ่นกับการพัฒนาจังหวัด นโยบายท้องถิ่นที่ผ่านมา ที่ผ่านมาการเมืองท้องถิ่นไม่เกิดสาระต่อการพัฒนาท้องถิ่นมากนัก ด้วยสาเหตุในหลายประการอาทิ (1) เป็นเรื่องการต่อรองอำนาจทางการเมือง (2) เป็นการแย่งชิงโครงการงบประมาณพัฒนาลงในพื้นที่ตนเอง (3) การขอโครงการแบบนำงบประมาณไปดำเนินการเอง มีปัญหาการส่งใช้เงินยืม จนเป็นปัญหาท้วงติงจาก สตง. ผูกพันมาอย่างต่อเนื่อง (4) การไม่เข้าใจภารกิจหน้าที่ท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ มองแต่เรื่องโครงการก่อสร้างเพราะใช้เม็ดเงินได้มากกว่า ไม่มองเรื่องสาธารณภัยความเดือดร้อนของชาวบ้าน เช่นความสงบเรียบร้อยภายใน โรคระบาดทั้งพืชสัตว์และ มลภาวะ สุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม การศึกษา การพัฒนาชุมชน การพัฒนาอาชีพ การสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายหละหลวม มีการเลือกปฏิบัติหรือหลบเลี่ยงเลือกทำ ทำให้ระบบราชการประจำอ่อนแอรวนไปหมดทั้งระบบ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเสียศูนย์การทำงานขาดความโปร่งใส หวดระแวง ไม่มีความเชื่อมั่น ต้องคอยหลบหลีกหน่วยตรวจสอบ ด้วยความเสี่ยงในความรับผิดทางละเมิดหรือทางอาญามากขึ้น ด้วยความไม่แน่นอนในการใช้อำนาจในของฝ่ายการเมืองท้องถิ่นในหลายรูปแบบ กระบวนการบริหารงานขาดความโปร่งใสสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตการแสวงประโยชน์ส่วนตัวหรือการทับซ้อนในผลประโยชน์ นอกจากนี้ในส่วนของสมาชิกสภา หลายแห่งเป็นสภารับเหมาทั้งขาเล็กขาใหญ่ ทำให้ระบบการควบคุมภายในอ่อนแอเสียหาย มหาดไทยต้องมีมาตรฐานในการกำกับด้วยความสุจริตโปร่งใส เพราะข้าราชการส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำเป็น “ผู้ขับเคลื่อนท้องถิ่น”ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาตามวาระ เข้ามาเพื่อแสวงประโยชน์ มีการแบ่งพวกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดความแตกแยกในกลุ่มประชาชนตามวิถีปกติของนักการเมือง และ มีปัญหาบกพร่องในจริยธรรมที่มากกว่าฝ่ายข้าราชการเพราะฝ่ายการเมืองไม่มีโทษทางวินัยเหมือนฝ่ายประจำ ปัญหาการปฏิบัติงานของ อปท. มีข้อจำกัดที่มากขึ้น ด้วยความไม่แน่นอนของส่วนกลางในเรื่องการกระจายอำนาจ และโดย “การกำกับดูแล” ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนเป็น “การบังคับบัญชา” ที่มากขึ้น การรายงานข้อมูลตามสั่งการจากหน่วยเหนือขาดทิศทางกรอบในการชี้แนะนำที่ชัดเจน ทำให้การรายงานกิจกรรมต่าง ๆ ของ อปท. ขาดความน่าเชื่อถือของข้อมูลในการรายงาน เช่น การรายงานจำนวนสัตว์โรคพิษสุนัขบ้า การรายงานความเสียหายด้านสาธารณภัยต่าง ๆ การรายงานข้อมูลปริมาณขยะ ขยะพิษ หรือ การรายงานข้อมูลเชิงคุณภาพต่าง ๆ เป็นต้น เพราะระบบการขอข้อมูลเมื่อวานแต่วันนี้ต้องรายงานให้ได้ ส่วนข้อมูลจะมาจากที่ใดไม่สำคัญขอให้มีรายงานเป็นการบริหารจัดการข้อมูลยุค 4.0 ที่ขาดระบบการตรวจสอบควบคุมที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อในฐานข้อมูลเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในภารกิจหน้าที่ของท้องถิ่นไม่มีการกำหนดส่วนราชการ (สำนักหรือกอง) ให้ครบครอบคลุมในทุกภารกิจสำคัญ เช่น กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กองสวัสดิการสังคม กองส่งเสริมการเกษตร กองการประปา เพื่อรองรับภารกิจการถ่ายโอนที่มีความพร้อม หรือเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นต้น ยกตัวอย่างในความลักลั่นของกฎหมายพบว่า ท้องถิ่นมีการตราบทบัญญัติใหม่ตามรัฐธรรมนูญที่เข้มงวดในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาท้องถิ่น (สถ.) หรือผู้บริหารท้องถิ่น (ผถ.) ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศ รายเดิมที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในวาระใหม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีผลให้หลายคนต้องโทษอาญาคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แต่ในทางกลับกันที่ผ่านมาหมาด ๆ ปรากฏว่า กรณีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีใหม่ 6 รายไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์ฯดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. แต่อย่างใด แสดงว่า นายก อบต.หรือ รองนายก อบต. จะต้องมีมาตรฐานสูงกว่าคณะรัฐมนตรี ป.ป.ช.มีความจำเป็นใดมาประกอบเหตุผลที่ไม่ต้องยื่นบัญชีฯ เพราะหลักกฎหมายต้องบังคับทั่วไปโดยไม่มีบทยกเว้น การอภิปรายของ ส.ส.น้ำใหม่ในรัฐสภา หลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภามีโพลสำรวจประชาชนให้คะแนนเชื่อมั่นรัฐบาลใหม่ 4.52 จากคะแนนเต็ม 10 เป็นสีสรรครั้งแรกที่รัฐบาลที่มาจาก คสช. ได้เข้าสู่รัฐสภาอีกรอบ ด้วยนโยบายรัฐบาลรวม 12 ข้อ ประกอบด้วยนโยบายด้านท้องถิ่น ในข้อ 11.8 ที่ทางฝ่าย ส.ส. พรรคทางเลือกใหม่ฝ่ายค้านอภิปรายได้ดี ประกอบกับความบกพร่องผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับฝ่ายรัฐบาลที่แถลงนโยบายเป็นการตัดคะแนนความน่าเชื่อถือลงไปมาก เช่น การไม่ระบุจำนวนงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการตามนโยบาย การถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม. ไม่ครบข้อความ เป็นต้น ด้วยที่ผ่านมา รัฐบาลโดย คสช.อยู่บริหารประเทศมาถึง 5 ปี ใช้งบประมาณของรัฐไปมากถึง 13 ล้านล้านบาท ด้วยข้อมูลคนจนที่มากถึง 14.5 ล้านคน (ร้อยละ 21) ปัญหายาเสพติดสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ แก้ยาก เพราะติดขัดที่ผู้มีอิทธิพล และภาคส่วนราชการที่ละเลยหน้าที่ งบราชการลับ ใช้เงินหลวงไปมาก ตรวจสอบไม่ได้ ฉะนั้นจึงคงมีปัญหายาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน แร่เถื่อน แม้แต่ไม้เถื่อน ไม้พะยูง บ่อนเถื่อน สถานบริการเถื่อน วินเถื่อน ฯลฯ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แม้การเคลียร์ปมเศรษฐกิจในการแถลงนโยบายรัฐบาลครั้งนี้รัฐบาล (เดิม) รับว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นการกินบุญเก่ามา 30 ปี รัฐบาลได้ทุ่มเทเพื่อคนจนมาก เพิ่มการลงทุนจากนักลงทุน เชื่อว่าประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งที่ดีจะอยู่อย่างยั่งยืน ในส่วนของท้องถิ่นมีการอภิปรายว่า ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎ ระเบียบ กฎหมายรอง รวมทั้งหนังสือแจ้งเวียน ในการกำกับดูแลท้องถิ่นมากมาย ก่อให้เกิดความสับสน เข้าใจผิดไปหลายประการว่าเป็นการกำกับดูแลหรือการบังคับบัญชาสั่งการกันแน่ ทำให้บางท้องถิ่นไม่กล้าตัดสินใจในการปฏิบัติ บางท้องถิ่นมีการใช้งบประมาณอย่างไม่ใยดีว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถึงประชาชนหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจไม่ใช่ให้แต่เงิน แต่ไม่มีมาตรการควบคุม ท้องถิ่นใดกลัวว่าจะทำผิดก็ไม่ดำเนินการอ้างว่าควบคุมเกินไป ท้องถิ่นบางแห่งกลับแสวงประโยชน์จากช่องว่างช่องโหว่ของระเบียบกฎหมายดำเนินการที่นำไปสู่การทุจริต การทับซ้อนผลประโยชน์ได้มาก สะท้อนให้เห็นว่า เป็นเรื่องความพร้อมของบุคคล มันผิดก็ผิดที่คนไม่ใช่ผิดที่กฎหมาย ที่น่าสนใจมากคือ ข้อเสนอนโยบาย “แนวคิดติดกระดุม 5 เม็ด” เป็นของจริงที่มาจากชาวบ้านรากหญ้าไม่ใช่ทุนใหญ่ เป็นแก้ปัญหาเกษตรกรในเรื่อง (1) สิทธิที่ดินทำกิน (2) วงจรหนี้สิน (3) สารเคมีเกษตร (4) นวัตกรรมแปรรูป และ (5) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นสิ่งที่ดีงามมาก ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของระบบรัฐสภา ที่สอดคล้องกับยุค AI (Artificial Intelligence) หรือ“ปัญญาประดิษฐ์ที่ชาญฉลาด” ในการใช้ภูมิปัญญาอย่างมีชั้นเชิง มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ กรอบความคิดของคนรุ่นใหม่หัวใหม่ ระบบการบริหารราชการแบบเดิมของข้าราชการมีทัศนคติเชิงลบไม่สร้างสรรค์คือ การโง่ให้เป็น เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ฯลฯ เหล่านี้เป็นอุปสรรคการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะข้าราชการผู้ขับเคลื่อนนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจะกลายร่างเป็น ขุนพลอยพยัก สมภารกินไก่วัด อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นระบบที่ครอบงำความคิด จนเลยเถิดไปถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอื่น แต่ในกรอบความคิดของคนรุ่นใหม่หัวใหม่ (liberal and progressive) นั้น คงไม่มีใครกล้าคิดเลยเถิดไปถึงการปฏิวัติล้มล้างระบบต่าง ๆ ในสังคมไทย เหมือนดังที่ฝ่ายอนุรักษ์อีลิทหัวเก่า (Elite) คิดวิตกกัน แต่เป็นเพียงความคิดทางเลือกใหม่ในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามน่าอยู่มากขึ้น แต่ก็อาจไปกระทบบางเรื่องที่อ่อนไหวได้ เช่นเรื่องการเกณฑ์ทหาร การเกณฑ์แรงงาน การเกณฑ์สั่งการข้าราชการในงานขอความร่วมมือเฉพาะโดยมิใช่งานในหน้าที่โดยตรง ฯลฯ เป็นต้น เหล่านี้ เป็นทัศนคติที่ฝ่ายประจำต้องปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับกระแสข่าวว่า พรรคการเมืองทางเลือกใหม่เตรียมตัวส่งคนเข้าสู่สนามเล็กสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังเริ่มคึกคักกันแล้ว โดยเฉพาะสนาม “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” (อบจ.) ถือเป็นกรอบความคิดแบบเสรีของคนรุ่นใหม่หัวใหม่ที่แม้ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใคร แต่ก็ไปกระทบต่อระบบสังคมที่คนรุ่นเก่าได้สร้างกรอบไว้แล้ว ที่เห็นชัดก็คือระบบขุนนาง ลัทธิเจ้าขุนมูลนายที่ได้รับผลกระทบจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่มาก แม้ในสังคมมหาวิทยาลัยเองก็มีธรรมเนียมแนวคิดนี้อยู่แฝงเป็นแนวปฏิบัติมากเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามแต่ใน “ความเป็นสถาบัน” นั้นคนรุ่นใหม่คงไม่ได้คิดจะไปล้มล้างยังคงยึดถือในแบบธรรมเนียมดั้งเดิมอยู่ เช่น แบบธรรมเนียมของชาวพุทธทั่วไป แบบธรรมเนียมไทยในเรื่องระบบเจ้าขุนมูลนายในระบบอาวุโสครูบาอาจารย์ แบบธรรมเนียมเทิดทูนในชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ คือ ยังคงรักชาติบ้านเมืองเหมือนเช่นทุกคน กล่าวคือ ก็ยังยอมรับในแบบธรรมเนียมเก่า ๆ ที่ดีงามอยู่เช่นเดิม แต่คนรุ่นใหม่หัวใหม่จะเป็นคนที่ชอบศึกษาเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เท่านั้นทำให้ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบเดิม นอกจากนี้คงมิใช่ว่า “เมื่อเลือกข้างแนวคิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งแล้ว ก็ป่วยการที่จะแสดงความเห็น เพราะมันมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว” และ ไม่จำเป็นต้อง “ศีลเสมอกันจึงคบกัน” ฉะนั้นทุกฝ่าย จึงจำเป็นยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องมีทัศนคติเชิงบวกในการยอมรับ “ความเห็นต่าง” (Discrimination) ในท่ามกลางสังคมยุค 4.0 5.0 และ ยุค Big Data แห่งโลกโซเชียล