หมายเหตุ : “รักษเกชา แฉ่ฉาย” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงบทบาทในการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยจะมีการลงนามความร่วมมือ 5 ประเทศ พร้อมเป็นเจ้าภาพในการประชุมในเดือนภุมภาพันธ์ปี 2563 จัดตั้ง SEAOF ยกระดับองค์กร มุ่งคุ้มครองประชาชนในอาเซียน -บทบาทของผู้ตรวจการในเวทีอาเซียน ความจริงเป็นการริเริ่มของผู้ตรวจการแผ่นดินของประเทศไทย ที่ต้องการอยากจะให้มีเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South East Asian Ombudsman Forum (SEAOF) เมื่อมีการตั้งกลุ่มประเทศอาเซียนเต็มรูปแบบ ประชาชนแต่ละประเทศสามารถไปมาหาสู่กันมากขึ้น อาจจะมีปัญหาการติดต่อ หรือไม่ได้รับความสะดวกสะบายจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ตรวจการไทยจึงเล็งเห็นว่าแต่ละประทศมีผู้ตรวจการแผ่นดินเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ควรจะทำงานร่วมกันได้ จึงมีการตั้ง (SEAOF) เพื่อทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ที่จะทำให้แต่ละชาติสามารถดูแลคนของตัวเองในต่างแดนได้ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางไปยัง 5 ประเทศให้ได้รับความเป็นธรรม และเราก็ต้องดูแลคนที่เข้ามาในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ไทยไม่มองแค่กลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้นยังต้องขยายไปประเทศอื่น ๆด้วย เช่น ประเทศเกาหลี จีน อุซเบกิสถาน และญี่ปุ่น ซึ่งในเกาหลีผู้ตรวจการฯก็ได้เข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อน เราก็ได้ประสานไปยังผู้ตรวจการฯที่ประเทศเกาหลีไปช่วยดูแลให้ ซึ่งก็ถือว่าได้รับประโยชน์มาก หรือแม้กระทั่งในประเทศอินโดนีเซีย ก็ได้ไปช่วยกรณีวีซา นักศึกษาไทยหมดอายุแล้วไม่ได้ต่อ ทำให้ถูกปรับเกือบ 1 พันบาท เมื่อเราทราบข่าวก็ได้ประสานให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการฯไทยจึงได้มีแนวคิดว่าน่าจะทำในกรอบใหญ่ เพื่อให้ทั้งภูมิภาคได้รับประโยชน์ภายใต้ความร่วมมือของกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งพล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มอบหมายให้ผมไปเจรจากับผู้ตรวจการฯของประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ซึ่งทั้งหมดตอบตกลง และมีการประชุมร่วมกันเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสเป็นประธานในการประชุมร่วมกันตัวแทนผู้ตรวจการฯของทั้ง 5 ประเทศ และเห็นพ้องต้องกันกรอบความร่วมมือในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และจะมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรของแต่ละประเทศ และการทำวิจัยร่วมกัน หรืออาจจะมีการศึกษาร่วมกันในประเด็นต่างๆ ที่จะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน จากนั้นก็จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป หรืออาจจะมีหน่วยงานของรัฐที่จะดำเนินการ เช่น เรื่องของขยะทะเล ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินในภูมิภาคนี้อาจจะร่วมกันศึกษา และเสนอแนะให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ จึงเห็นพ้องต้องกันเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการจัดตั้ง SEAOF อย่างเป็นทางการที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยประเทศไทยจะเป็นประธานมีวาระ 2 ปี หมุนเวียนกันไปตามอักษรนำชื่อประเทศ ซึ่งจะเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ด้วย วัตถุประสงค์คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ไม่เกี่ยวข้องทางด้านการเมือง หรือกิจการภายในของแต่ละประเทศ แต่เป็นการแสดงถึงจุดยืนขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมิได้มุ่งให้ความเป็นธรรมหรือดูแลเฉพาะประชาชนทุกคนที่พำนักในประเทศตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนของตนที่พำนักในประเทศสมาชิกอื่นด้วย เป็นการดูแลซึ่งกันและกัน โดยปัจจุบันองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นอาจจะมีรายละเอียดอำนาจตามกฎหมายแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายของสมาชิก การจัดกิจกรรมเชิงวิชาการควบคู่กับการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจรัฐ ส่วนกรณีที่มีการทำผิดร้ายแรงนั้นๆ ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ และต้องไปดูว่าถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ รวมทั้งคนของเขาที่มาอยู่ประเทศไทยด้วยก็ต้องเข้าไปดู ว่าหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่งให้ความเป็นธรรม หรือไม่ ถูกแกล้งหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ทำถูกต้องหรือเปล่า ถ้าทำถูกก็ต้องช่วยเจ้าหน้าที่ชี้แจงให้ชาตินั้นๆเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่บางเรื่องอาจไปอยู่ในกระบวนการของศาล คงไปแทรกแซงไม่ได้ ก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยประสานเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น คนไทยไปติดคุกแล้วไม่ได้รับความสะดวกสบาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือดูแล เราก็จะแจ้งมาให้ผู้ตรวจการแผ่นดินในประเทศนั้นช่วยดู ขณะเดียวกันเราก็อาจจะประสานไปยังสถานทูตของเราในประเทศนั้นว่าทราบเรื่องนี้หรือไม่ และให้เข้าไปช่วย ซึ่งเราสามารถเข้าไปกำกับหน่วยงานของรัฐได้เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลคนของชาตินั้นๆในประเทศเราเช่นเดียวกัน - การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของทั้ง 5 ประเทศมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร อาจจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันบ้าง แต่อำนาจหน้าที่ หรือการบังคับอาจแตกต่างกันไป นี่คือประโยชน์ที่จะได้รับซึ่งกันและกัน แต่มีอำนาจที่เหมือนกันคือการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล หรือการเสริมสร้างธรรมาภิบาลที่ต้องการจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แต่กระบวนการขั้นตอนวิธีคิด หรือวิธีการจัดการปัญหาอาจจะไม่เหมือนกัน โดยวัฒนธรรม และกฎหมาย จึงเห็นว่าเราน่าจะนำมาแบ่งปันให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมอาชีพในภูมิภาคนี้ได้ จึงคิดว่าน่าจะมีการประชุมกันทุกปี เพื่อจะมาดูว่าปัญหาต่างๆหรือสิ่งที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง มีการแก้ไข และช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้ภูมิภาคนี้เกิดธรรมาภิบาล หรือสังคมสันติสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่เราน่าจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ -ข้อดี ข้อเสียของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระ มีทั้งข้อดี และข้อเสีย เพราะมีบางแห่งก็อยู่ภายใต้รัฐบาล ซึ่งการทำงานผู้ตรวจการแผ่นดินของไทยในมาจากระบบของรัฐสภา ไม่มีอำนาจบังคับ เพียงแต่ให้ข้อเสนอแนะ แก้ไข ชี้ให้เห็นความผิดพลาดเท่านั้น ถ้าไม่มีการแก้ไขก็ส่งให้ครม.และหากครม.ไม่ทำก็มารายงานในการประชุมรัฐสภา หรือนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือตั้งกระทู้ถามเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์หรือช่วยเหลือประชาชนได้ แต่ข้อดีคือไม่มีใครแทรกแซงได้ เป็นอิสระ แต่ที่ผู้ตรวจการฯถูกออกมาแบบนี้ เพื่อไม่ให้ไปสังกัดของฝ่ายบริหาร เกรงว่าจะมีการช่วยเหลือกันเอง เพราะที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ จึงอยากให้ผู้ตรวจการเป็นองค์กรอิสระแต่การทำงานก็ไม่เป็นอิสระจริง เพราะต้องยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งในแง่ของการทำงานถือว่าดี มีอิสระคล่องตัวไม่ต้องไปอยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายบริหาร คอยชี้ซ้ายหัน ขวาหัน ขณะเดียวกันถ้าผู้ตรวจการฯมาจากรัฐบาล คนอาจจะสงสัยว่าตั้งมาจากรัฐบาลหรือประธานาธิบดี อาจจะถูกครอบงำหรือเปล่า ซึ่งจะต้องดูกลไกการทำงาน เช่นตั้งโดยประธานาธิบดีแต่ต้องมีการคณะกรรมการอิสระขึ้นมาคัดสรร เพื่อที่จะได้ไม่ล็อคเอาคนนั้นคนนี้ แต่ก็ต้องให้ประธานาธิบดีตัดสินใจตอนสุดท้าย ซึ่งกรณีนี้ถ้าเกิดข้อผิดพลาดจากฝ่ายบริหาร เดิมไม่มีอำนาจในการบอกกล่าว แต่ถ้าเป็นผู้ตรวจการฯที่ประธานาธิบดีหรือรัฐบาลตั้ง หากเจ้าหน้าที่ทำผิดให้มีการโยกย้าย หรือลงโทษ หัวหน้าฝ่ายปกครองก็สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งผลบังคับจะมีมากกว่า ผู้ตรวจการฯเป็นองค์อิสระ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ผู้ตรวจการประเทศเกาหลี ตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดี แต่ตั้งเป็นคณะกรรมการในการปกป้องสิทธิพลเมือง เป็นการนำหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยคือป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์มาตั้งเป็น One Stop Service เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่อีกมุมหนึ่งก็มองว่าเป็นการกินรวบหรือเปล่า ที่นำมาอยู่ที่เดียวภายใต้การตัดสินใจของคนๆเดียว เพราะก่อนหน้านี้อาจจะมีการคานอำนาจกันระหว่างป.ป.ช.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบกัน คิดว่าขณะนี้การออกแบบของผู้ตรวจการแผ่นดินขึ้นมาเพื่อไม่ต้องการให้มีอำนาจเหมือนศาล ซึ่งเป็นการตั้งหน่วยงานขึ้นมาก่อนกระบวนการไปถึงศาล มีการไกล่เกลี่ย ดูแลโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ โดยใช้กลไกการเจรจา หรือความร่วมมือ ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นประโยชน์ เพราะก่อนที่คดีจะนำขึ้นสู่ศาล มีการเผชิญหน้า มีค่าใช้จ่าย และไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เร่งรัดก็ไม่ได้ ซึ่งการต่อสู้ในศาลก็จะดูกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งบางคดีกฎหมายบอกว่าอย่างนี้ แต่ศาลอาจจะยกฟ้อง เพราะศาลยึดตามกฎหมายเป็นหลัก แต่บางคนอาจจะมองว่าไม่มีความเป็นธรรม เพราะทำผิดเหมือนกันแต่การตัดสินต่างกัน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ กฎหมายไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นการทำงานที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างอิสระที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นในส่วนของระบบก็ควรจะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ ส่วนการทำงานร่วมกับป.ป.ช.ก็ไม่มีปัญหา เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจน มาตรา 221 องค์กรอิสระต้องร่วมมือกันทำงาน ถ้าเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ถ้าอยู่อำนาจในองค์กรใดก็ให้ช่วยบอกให้องค์กรนั้นไปทำ และในมาตรา 6 ของพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้มีการประสานงาน หารือกับป.ป.ช.ทำงานร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อได้ประชุมเพื่อจะแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือผู้ตรวจการแผ่นดินเองเวลาลงพื้นที่หรือจัดสัมมนาก็จะเชิญองค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ร่วมไปด้วย ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร แบ่งกันทำงานอย่างชัดเจน ส่วนการร้องเรียนทางการเมืองผู้ตรวจการฯก็ไม่กังวลอะไร เพราะยึดตามข้อกฎหมายเป็นหลัก เมื่อได้รับเรื่องต่างๆก็จะแสวงหาข้อเท็จจริง สามารถชี้แจงได้ทุกกรณี บางเรื่องอาจจะช้าบ้างขึ้นอยู่กับข้อมูล และความซับซ้อนของแต่ละเรื่อง แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง เพราะการทำงานของผู้ตรวจการฯที่ผ่านมาทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางมาโดยตลอด ถามว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นเราไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ตามหน้าที่ก็ต้องทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้ามาร้องเรียนถ้าอยู่ในหน้าที่ก็รับหมด แต่ถ้าไม่รับก็ต้องชี้แจงให้ทราบเพราะอะไร เพราะฉะนั้น 20 ปีต่อไปเราจะทำงานเชิงรุก เมื่อความปรากฏเป็นข่าว หรือแจ้งมา และผู้ตรวจการฯเห็นเองเราสามารถหยิบยกมาดำเนินการได้ เมื่อก่อนถ้าไม่มีคนร้องเราทำไม่ได้ แต่ตอนนี้เราสามารถหยิบยกขึ้นมาเอง แต่ต้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และประชาชน