การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละท่านที่ต้องใช้งานร่างกายหนัก นานวันเข้าความเจ็บป่วยที่ก่อตัวอยู่ข้างใน เริ่มแสดงอาการ ตอกย้ำการจะดำเนินชีวิตไปให้ถึงจุดหมายได้ สิ่งสำคัญคือสุขภาพร่างกายที่ต้องดูแลอย่างดีที่สุด และอีกหนึ่งในเคสคนไข้ที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศต้องพึงใส่ใจ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์ผ่านเพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ระบุ “โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดเฉียบพลัน (Acute pulmonary embolism) แต่ก่อนเคยพบน้อยในคนไทยเมื่อเทียบกับคนในประเทศตะวันตก แต่ปัจจุบันพบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบน้อยมากในคนอายุน้อย เป็นโรคที่อันตรายถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที ผู้ป่วยชายไทยอายุ 28 ปี ปกติแข็งแรงดี เคยผ่าตัดเส้นเลือดขอดที่ขาข้างซ้าย 8 ปีก่อน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บหน้าอกข้างขวาเวลาหายใจ เจ็บแบบแหลมๆ เหมือนเข็มมาแทง เหนื่อยเล็กน้อย และมีไข้ต่ำๆ 1 วัน ขาไม่บวมไม่เจ็บ คืนก่อนไปโรงพยาบาลแถวบ้านได้ยาปฏิชีวนะรับประทานแล้วไม่ดีขึ้น ตรวจร่างกายมีไข้ต่ำๆ อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส หัวใจเต้น 98 ครั้งต่อนาที ฟังปอด ลมเข้าปอดข้างขวาน้อยกว่าข้างซ้าย ขาไม่บวม ไม่เจ็บ เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวสูงเล็กน้อย 11,700 ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG)ปกติ เอกซเรย์ปอดเห็นฝ้าขาวที่ชายปอดด้านขวา (ดูรูป) ทำอัลตร้าซาวด์ตรวจหาลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำของขาข้างซ้าย ไม่พบลิ่มเลือดอุดตัน ทำคอมพิวเตอร์ฉีดสีดูหลอดเลือดปอด (CT pulmonary angiogram) พบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดขนาดเล็กที่ปอดขวาและซ้ายกลีบล่าง ทำให้บางส่วนของเนื้อเยื่อปอดขวากลีบล่างตาย (pulmonary infarct) และมีน้ำในช่องปอดขวาเล็กน้อย (ดูรูป) ได้ให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยฉีดยาเฮพาริน (Heparin) คู่กับยารับประทานวาร์ฟาริน(warfarin) อาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจดีขึ้น ไม่เหนื่อย นอนรักษาในโรงพยาบาล 11 วันกลับบ้านได้ ให้ยาวาร์ฟารินทานต่อที่บ้าน ผู้ป่วยรายนี้นั่งทำงานนานวันละ 5 ถึง 6 ชั่วโมง โดยไม่ค่อยออกกำลังกาย อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำของขาข้างซ้ายซึ่งเคยผ่าตัดเส้นเลือดขอด ลิ่มเลือดที่อุดตันบริเวณขาหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดแดงในปอด ทำให้เนื้อเยื่อปอดด้านขวาล่างตายบางส่วน ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอกข้างขวาเวลาหายใจเข้า ผู้ป่วยต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดวาร์ฟารินต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันซ้ำอีก ต้องเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ขยับขาบ่อยๆ ห้ามนั่งนาน และห้ามนั่งไขว่ห้าง” <strong>ขอบคุณเรื่อง-ภาพจากเพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์”