ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย อเล็กซานเดอร์ บอริส เดอ เฟิฟเฟิล จอห์นสัน เกิดที่นิวยอร์ก จึงใช้ 2 สัญชาติ ต่อมามีปัญหาเรื่องภาษีจึงขอยกเลิกสัญชาติอเมริกัน ด้วยทรงผมและใบหน้าละม้ายคล้ายกับ โดนัล ทรัมป์ หลายคนจึงจับคู่เขาทั้งสองเป็นแฝด แต่ในความเป็นจริง เขามีความแตกต่างกับทรัมป์อย่างมาก ที่เด่นชัดเขามีประสบการณ์ตรงในทางการเมืองอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่การสอบตกส.ส. และต่อมาก็ได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ช่วงหนึ่ง ในที่สุดก็หันมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีมหานครลอนดอน และได้อยู่ในตำแหน่งประมาณ 8 ปี จึงเห็นเข้ามาสู่การเมืองระดับประเทศอีกครั้ง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จได้เป็นรัฐมนตรี จนตำแหน่งสุดท้ายได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ่งที่เหมือนกันกับทรัมป์คือ การหลงความยิ่งใหญ่ของชาติ เช่น ที่ทรัมป์เคยประกาศว่า สหรัฐฯจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง บอริสก็คิดแบบเดียวกันคือสหราชอาณาจักรจะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นอกจากนี้บอริสก็ยังมีแนวคิดที่ค่อนข้างเหยียดผิว และรังเกียจผู้อพยพจากตะวันออกกลางทั้งๆที่สหรัฐฯและอังกฤษต่างก็เป็นตัวไปสร้างปัญหาในตะวันออกกลาง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง คือ น้ำมันและทั้งคู่ต่างเชื่อในความเหนือกว่าของชาติพันธุ์ผิวขาว สำหรับความนิยมในตัวของบอริสจากการสำรวจของประชาชน ปรากฏว่าต่ำกว่านางเทรีซา เมย์ เสียอีก และการสำรวจความไม่พอใจต่อเขาก็มากกว่านางเมย์อีกด้วย อย่างนี้แล้วก็คงพอมองเห็นภาพว่าบอริสจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างในสภา และนอกสภา ซึ่งหลายคนในวงการก็คาดว่าเขาอาจจะต้องยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในไม่เกิน 6 เดือน บอริส ต้องเผชิญปัญหาที่ใหญ่และหนักที่สุด คือเรื่อง Brexit นั่นคือการแยกตัวออกจากยุโรป ไม่เข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจการเมืองของ EU หรือสหภาพยุโรปอีกต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเมืองของทั้งอังกฤษและยุโรปอย่างมาก ที่สำคัญบอริสเป็นตัวการสำคัญที่สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจากยุโรป ซึ่งเริ่มมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพจากภัยสงคราม แต่ปัญหาเบร็กซิทนี้ขนาดเทรีซา เมย์ ที่ได้รับความนิยมมากกว่าบอริส จอห์นสัน ยังไม่สามารถจัดการอะไรได้ทั้งๆที่ประชาชนอังกฤษมีประชามติให้แยกตัวด้วยคะแนนเฉียดฉิว แต่สภาผู้แทนราษฎร ก็มีความเห็นแตกแยกกันหลายรูปแบบ มีทั้งไม่เห็นด้วยที่จะแยก หรือเห็นต่างในเงื่อนไขต่างๆที่จะเสนอต่อสภายุโรปว่าจะแยกกันอย่างไรและเมื่อไร จนสุดท้ายไม่อาจมีมติสนับสนุนเทรีซา เมย์ ในแผนการแยกตัวของเธอ ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือ พรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ด้วยเหตุนี้เมื่อนายบอริส จอห์นสัน ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม เขาก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ เพราะพรรคนี้เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน บอริส ประกาศว่า อังกฤษจะต้องแยกตัวจากยุโรปไม่ว่าจะมีหรือไม่มีข้อตกลงกับยุโรปภายในวันที่ 31 ตุลาคม ปีนี้ แค่เพียงประกาศอย่างนี้ก็เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดเงินแล้ว ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษร่วงลงทันที เหลือ 37.37 บาทต่อปอนด์ ทั้งนี้มีรายงานว่าเงินปอนด์มีระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน และนักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าค่าเงินปอนด์จะร่วงลงไปอีกอย่างต่อเนื่องเพราะผลกระทบจาก Brexit การตอบสนองจาก EU ก็เป็นไปในทางลบเพราะนางมีนา แอนดรีวา โฆษกของนายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป กล่าวว่านายยุงเกอร์ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษแล้ว โดยนายยุงเกอร์ได้บอกกับเธอว่า EU จะไม่ทำการเจรจารอบใหม่กับอังกฤษอีก ทั้งนี้ EU มองว่าที่ผ่านมาอังกฤษพยายามซื้อเวลาและแสวงหาประโยชน์จากสิทธิพิเศษของการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยที่ไม่ยอมทำตามนโยบายของสหภาพเลย ส่วนปัญหาภายในนั่นคือ การลงทุนทั้งจากยุโรปและสหรัฐฯจะได้รับผลกระทบต่อการแยกตัวในครั้งนี้ เพราะจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษอีกต่อไป ซึ่งในเครือจักรภพนี้ ไอร์แลนด์เหนือและสก็อตแลนด์ได้รับผลกระทบมาก และทั้ง 2 ภาคนี้ก็ลงมติไม่เห็นด้วยที่จะแยกตัวออกจากยุโรป แต่แพ้คะแนนรวม จนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่จะแยกตัวจากอังกฤษ แต่ประชามติไม่ผ่าน อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการแยกตัวจากสหภาพยุโรปจริงๆ อาจเกิดความวุ่นวายขึ้นในเครือจักรภพ โดยเฉพาะในไอร์แลนด์เหนือที่มีแนวโน้มอยากไปรวมกับไอร์แลนด์ ส่วนสก็อตแลนด์นั้นประชามติให้แยกตัวก็แพ้กันไม่มาก ทำให้นายบอริส เมื่อรับตำแหน่งต้องรีบเดินทางไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีสก็อตแลนด์ และนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์เหนือโดยไม่ชักช้า ด้านสหรัฐอเมริกา นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แจ้งว่าจะมีการตกลงทวิภาคีกับอังกฤษทันทีที่อังกฤษแยกตัว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งต่อเศรษฐกิจของสองประเทศ มีข้อสังเกต 2 ประการต่อคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ก็คือ นายทรัมป์นั้นมักจะพูดกลับไปกลับมาอยู่บ่อยครั้ง และประการที่สองนายทรัมป์จะก้าวข้ามการหาเสียงที่ตนยึดมั่นได้อย่างไรที่ว่า “อเมริกันต้องมาก่อน” นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของสหรัฐ-อังกฤษ ก็หมางเมินกันอยู่จากวาทกรรมของอดีตทูตอังกฤษที่วิพากษ์นายทรัมป์เสียหาย และมีการตอบโต้กัน อย่างไรก็ตามด้วยความเชื่อร่วมกันว่าคนผิวขาวต้องเหนือกว่า และต่างก็เชื่อว่าประเทศของตนยิ่งใหญ่ ซึ่งในอดีตก็เคยร่วมมือกันใกล้ชิด เรียกว่า “ภาคีแองโกร-อเมริกัน” ด้วยผลประโยชน์ต่างๆทั่วโลก การสนับสนุนอิสราเอล ในการกดขี่ข่มเหงปาเลสไตน์ การแย่งยึดดินแดน การโจมตีเพื่อนบ้านทั้งปาเลสไตน์ ซีเรีย เลบานอน ตลอดจนความร่วมมือกันสนับสนุนซาอุดิอารเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต ในการรุกรานเยเมนและก่ออาชญากรรมส่งครามร่วมกัน หรือการเผชิญหน้ากดดันอิหร่าน จนถึงการให้การสนับสนุนการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงเพื่อกดดันจีน สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้สองมหาอำนาจต้องจับมือกันแนบแน่น เฉกเช่นเดียวกันกับที่จีนต้องจับมือกับรัสเซีย เพื่อต้านทานอำนาจของตะวันตก และนาโต้ สุดท้ายต้องเข้าใจว่าในอดีตบอริส จอห์นสัน เคยถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์ไทม์ฐานละเมิดจรรยาบรรณด้วยการปั้นข้าว ก็ไม่รู้ว่านิสัยนี้ในปัจจุบันจะแก้หายหรือไม่