“ความดันโลหิตสูง” เป็นโรคที่พบได้บ่อย และคนส่วนใหญ่ก็มักไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ซึ่งหากปล่อยไว้และเป็นนาน ๆ เข้า อาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย ภาควิชาอายุรศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชวนมาทำความรู้จักกับโรคนี้เพื่อจะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้องต่อไป             ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงจะตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน โดยผู้ที่จะมีความเสี่ยงที่จะมีความดันโลหิตสูง ได้แก่ ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น บิดา มารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารเค็ม สำหรับโรคความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุนั้น พบได้น้อยแต่ก็มีความสำคัญ เนื่องจากบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ โรคที่เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงได้ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ ยาบางชนิด หรือเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการรักษา จะมีการทำลายของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ไต หลอดเลือดและตา ดังนั้น หากวัดความดันโลหิต และพบว่ามีความดันโลหิตสูง ควรได้รับการประเมินและตรวจรักษาเพิ่มเติมจากแพทย์ การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง วินิจฉัยได้จากการวัดความดันโลหิตเท่านั้น โดยค่าความดันโลหิตที่วัดที่โรงพยาบาล หากมากกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท จะจัดว่ามีความดันโลหิตสูง จากนั้นจะได้รับการวัดความดันโลหิตซ้ำว่าความดันโลหิตสูงจริง ได้รับการตรวจหาสาเหตุว่า เป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่มีสาเหตุหรือไม่ และได้รับการตรวจประเมินหาหลักฐานการทำลายของอวัยวะต่าง ๆ จากโรคความดันโลหิตสูง และประเมินความเสี่ยงอื่น ๆ ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ การรักษาโรคความดันโลหิตสูง ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ได้แก่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดรับประทานอาหารเค็ม หรือเกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งอยู่ในเครื่องปรุงต่างๆ ทำควบคู่ไปกับรับประทานยาลดความดันโลหิต ซึ่งมีหลายชนิด โดยแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่มีอาการแต่อันตราย ดังนั้น เมื่อตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงแล้ว ควรมาพบแพทย์ตามนัด รับประทานยาสม่ำเสมอควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง ที่จะมีโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตามมา ขอบคุณเรื่อง-ภาพ คณะแพทยศาสตร์รพ.ศิริราช