ตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือมหาสมุทรแปซิฟกใต้ ต้องถือเป็นอาณาบริเวณอีกแห่งหนึ่ง ที่เป็นสมรภูมิของ “สงครามเย็นยุคใหม่ (New Cold War)” ในการประชันกันระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีนแผ่นดินใหญ่” สองมหาอำนาจพี่เบิ้มใหญ่แห่งยุค โดยสหรัฐฯ นั้น ต้องนับเป็นมหาอำนาจผู้ทรงอิทธิพลเจ้าเก่า ซึ่งนั่งบัลลังก์มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ขณะที่ จีนแผ่นดินใหญ่ ก้าวขึ้นมาเบียดไล่แซง จนสามารถแข่งบารมีกับสหรัฐฯ หลังขยายอิทธิพลรุกเข้ามาจนเป็นที่หวาดผวาทั้งต่อสหรัฐฯ และเหล่าชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ อย่าง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นชาติพี่เบิ้มระดับถัดรองเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ ในห้วงที่ผ่านมา ชาติพี่เบิ้มเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะออสเตรเลีย ก็ดำเนินนโยบายในอันที่จะถ่วงดุลย์อำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ต่างฝ่าย ต่างรุกไล่ขยายอิทธิพลกัน โดยมีภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ เป็นสังเวียนชิงชัย กระทั่งเมื่อไม่กี่เพลามานี้ ออสเตรเลียก็จำต้องขยับปรับยุทธศาสตร์ในการประจันหน้ากับมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ปรากฏว่า ลุยรุกคืบขยายอิทธิพลในภูมิภาคแห่งนั้นกันอย่างหนัก แบบต่อเนื่องจากทะเลจีนใต้ ลงสู่ตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้กันเลยทีเดียว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ พบปะกับนายมัลคอล์ม เทิร์นบูล นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในการเดินทางเยือนออสเตรเลีย เมื่อปี 2560 แต่ที่นับว่า เป็นปัจจัยอันทำให้ออสเตรเลีย มิอาจนิ่งนอนใจดูดายให้พญามังกรกางกรงเล็บ สยายอิทธิพลในภูมิภาคแบบตาปริบๆ ได้ ก็เห็นจะเป็นการขยายอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ เข้าไปถึงบรรดาหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ที่เปรียบเสมือนเป็นรัฐเล็ก รัฐน้อย ในอ้อมกอดแห่งอิทธิพลของออสเตรเลียดั้งเดิม ท่าเรือในลูกานวิลล์ บนเกาะเอสปิริตูซานโต ของวานูอาตู มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ที่ถูกระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่ เล็งมาช่วยพัฒนา เพื่อตั้งฐานทัพ โดยการขยายอิทธิพลของพญามังกรจีน ก็ดำเนินการผ่านกลวิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านกระบวนการให้ความช่วยเหลือประดามี ไม่ว่าจะเป็นผ่านเงินกู้ระหว่างประเทศ หรือการทูตเงินตรา จนหลายคนติติงว่า จะก่อให้เกิดกับดักหนี้แก่ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือ ผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่ รวมไปถึงผ่านระบบสาธารณสุข ที่ถึงขนาดกองทัพเรือของรัฐบาลปักกิ่ง ส่งกองเรือพยาบาล อย่าง “พีซอาร์ก” แห่งกองทัพเรือจีน เข้ามาให้บริการรักษาพยาบาลแก่พลเมืองย่านมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ แต่ที่นับว่า ทำให้ “จิงโจ้” นิกเนมของออสเตรเลีย มิอาจนิ่งเฉยได้ ก็เห็นจะเป็นการที่รัฐบาลปักกิ่ง ให้ความช่วยเหลือเพื่อที่จะนำไปสู่การตั้งฐานทัพของจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น กรณีของวานูอาตู ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันขรมไปทั่วโลก นอกเหนือจากที่ออสเตรเลียแล้ว เป็นต้น “ไต้ชานเต้า” หรือ “พีซ อาร์ก (Peace Ark)” อันหมายถึง “เรือสันติภาพ” ซึ่งเป็นเรือพยาบาลของกองทัพเรือจีน ที่แล่นให้บริการรักษาพยาบาลบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้ออสเตรเลีย ต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างขนานใหญ่ โดยมีรายงานว่า รัฐบาลแคนเบอร์รา ทางการออสเตรเลีย มุ่งหันเหไปหาทางสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งปรากฏเป็นฉากความร่วมมือทางการทหารเป็นประการต่างๆ เพื่อยับยั้งการขยายอิทธิพลของจีนที่ในน่านน้ำของตน ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมวงไพบูลย์ในฐานะสมาชิก “จตุภาคี” ที่ประกอบสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เพื่อจับมือทางทัพนาวีครอบคลุมพื้นที่ “อินโด-แปซิฟิก” คือ มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตามวิถีสกัดกั้นจีนแผ่นดินใหญ่ ฐานทัพเรือที่เมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ล่าสุด เมื่อกลางสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทางการแคนเบอร์รา โดยนางมารีส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย ก็ได้ประกาศขานรับแผน “โครงสร้างพื้นฐานทางทหาร” ที่นำเสนอโดยสหรัฐฯ มูลค่าเบื้องต้น 211.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการก่อสร้างเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานอันจะเอื้ออำนวยต่อการทหาร รวมไปถึงการที่จะให้สหรัฐฯ อาจไปตั้งฐานทัพในเมืองดาร์วิน ของออสเตรเลียได้ โดยแผนการดังกล่าว แท้จริงแล้วเริ่มมีการหารือกันตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐฯ กับนางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ตั้งแต่ปื 2554 แล้ว แต่ได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง รับมือกับอิทธิพลของพญามังกรที่รุกขยายในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้เพิ่มขึ้นไปทุกขณะ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐฯ และนางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย หารือเรื่องการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในออสเตรเลีย เมื่อปี 2554