กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดแข่งขัน “การประกวดธุรกิจนวัตกรรม UAV Application ภายใต้โครงการ UAV Startup 2019” ในงาน Thailand Space Week 2019 ณ อิมแพค เมืองทองธานี นายพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมผลิตภัณฑ์อวกาศ สำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของจิสด้า กล่าวเชิญชวน ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมชมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ การประกวดธุรกิจนวัตกรรม UAV Application โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเข้ามา 9 ทีมด้วยกัน แบ่งออกเป็นด้าน Dual Use Technology (UAV สำหรับความมั่นคงและกิจการพลเรือน 4 ทีม ประกอบด้วย โครงการอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึงขึ้นลงทางดิ่งสำหรับการตรวจความผิดปกติตามแนวถนน จากทีมไอครีเอทีฟซิสเตมส์ โครงการการพัฒนา UAV เพื่อสนับสนุนมาตรฐานการจัดการเหตุคุกคามทางอาชญากรรมและปัญหาสุขภาพชุมชน จากทีมเดตั้มไลน์ โครงการระบบขนส่งกำลังบำรุงด้านการทหาร จากทีมทามอส และโครงการซอฟแวร์สำหรับโดรนในการสร้างแผนที่ 3 มิติและระบุตำแหน่งตนเองด้วยคอมพิวเตอร์บนตัวโดรน จากทีมโอแซดที โรโบติกส์ และทางด้าน Disaster (การพัฒนาฮาร์ดแวร์หรือซอฟแวร์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน UAV ด้านบรรเทาภัยพิบัติ) 5 ทีม ประกอบด้วย โครงการนวัตกรรมอากาศยานไร้นักบินเพื่อสนับสนุนระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติทางน้ำ จากทีมอาร์แอนด์ดี เอ็นไว-อินโนเทค โครงการอากาศยานหลายใบพัดสำหรับระบบตรวจจับฝูงชนเพื่อป้องกันการก่อวินาศภัย จากทีม Top engineering โครงการDrone Delivery for Disaster Relief จากทีมFling โครงการมัลติโดรนเพื่อสนับสนุนภารกิจดับเพลิง จากทีม เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส และ โครงการโดรนอัจฉริยะช่วยชีวิตผู้ประสบภัย จากทีม โนวี (2018) ทีมที่เข้ารอบทุกทีมจะต้องใช้กลยุทธ์ในการนำเสนอไอเดียที่มีความแปลกใหม่และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานกับภารกิจต่างๆได้จริง นอกจากพิชิตโล่และเงินรางวัลแล้วก็จะได้รับการส่งเสริมต่อยอดผลิตภัณฑ์ Business matching และร่วมผลักดันเข้าโครงการแผนการพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมEntrepreneurial Development Program (EDP) เพื่อสร้างความเป็นเลิศในการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อีกทั้งภายในงานผู้เข้าชมยังได้เห็นตัวผลิตภัณฑ์ UAV ที่ผ่านการพัฒนาจนสมบูรณ์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภารกิจอีกด้วย นายพรเทพ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Unmanned Aerial Vehicle หรือ อากาศยานไร้คนขับ (UAV) มีต้นทุนในการผลิตและนำเข้าที่ไม่สูงมากนัก อีกทั้งมีตลาดผู้ใช้งานที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึง UAV สามารถประยุกต์เข้ากับงานได้หลากหลายประเภท เช่น งานสำรวจด้วยภาพถ่าย ด้านการจัดทำแผนที่ บริหารจัดการพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ ความเปลี่ยนแปลงสภาวะของสิ่งแวดล้อม การป้องกันและประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ อุบัติภัย ตลอดจนด้านการเกษตร ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการในไทยให้มีการพัฒนาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จิสด้าในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีจุดแข็งในด้านการศึกษาและผลิต UAV เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ใช้บินสำรวจพื้นที่ทางอากาศได้อย่างแม่นยำ รวดเร็วทันต่อความต้องการ และประหยัดค่าใช้จ่าย จึงถือว่ามีส่วนสำคัญในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปพัฒนาใช้กับทุกๆภาคส่วน และเป็นสิ่งที่ดีที่ได้ดึงศักยภาพของคนไทยที่มีอยู่มาร่วมแข่งขันกันและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลัก 12 ด้านของรัฐในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทยกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงสามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมการนำเสนอรอบสุดท้ายได้ในวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00น. อิมแพค เมืองทองธานี