เพจเฟซบุ๊ก OR No.9 เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด โพตส์ข้อความถึงการใช้กัญชารักษามะเร็ง โดยระบุว่า...
สัปดาห์ที่แล้ว มีคนไข้ผู้หญิงคนหนึ่งมาตรวจหลังผ่าตัดมะเร็งลำไส้ ซึ่งผ่าตัดเสร็จไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ตัดไหมเรียบร้อย และผลชิ้นเนื้อออกมาว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 3 ต้องรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด คนไข้บอกกับผมว่า "คุณหมอคะ จะมาขออนุญาตคุณหมอไปรักษาต่อด้วยน้ำมันกัญชา" ผมได้ฟังก็แปลกใจ เพราะเคสนี้เป็นเคสฝากดูแลจากพยาบาลท่านหนึ่ง เคยบอกว่าเป็นญาติของพี่พยาบาล ผมเลยถามต่อไปว่า "อ้าว พี่เขาไม่ได้บอกเหรอครับ ว่าหลังจากผ่าตัดอาจต้องให้ยาเคมีบำบัดต่อ แล้วได้ปรึกษากับเขาหรือยังที่จะไปใช้น้ำมันกัญชา" คนไข้ตอบว่า "บอกค่ะ ปรึกษากันแล้ว และพี่เขาก็ให้มาขอหมออีกที ว่าจะไปรักษาทางเลือก" สุดท้ายพยายามเกลี้ยกล่อมอยู่นาน บอกทั้งผลดีผลเสีย บอกว่าถ้าไม่รักษาต่อแล้วกลับมาอีกครั้งจะเกิดผลตามมาอย่างไรบ้าง ก็ไม่สำเร็จ คนไข้ก็ยืนยันไปรักษาต่อด้วยน้ำมันกัญชา ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาที่เขาจะเลือก  ผมเองก็ไม่อาจห้ามได้ แต่ก็รู้สึกเสียดายนิด ๆ ว่าคนไข้คนนี้อาจเสียโอกาสในการรักษาไป หากกลับมาอีกก็รักษายากแล้ว เคสนี้ไม่ใช่เคสแรกที่ผมเจอในรอบสองเดือนที่ผ่านมา แต่ที่แปลกใจคือ ขนาดเจ้าหน้าที่ หรือญาติเจ้าหน้าที่เองยังไม่เข้าใจว่ากัญชาคืออะไร แล้วรักษาอะไรได้บ้างเลย แล้วคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ล่ะ จะเข้าใจผิดไหม กัญชามีทั้งข้อดีละข้อเสีย ซึ่งผมเองเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ก็ไม่ได้ปฏิเสธ และว่าง ๆ ผมจะเขียนให้อ่านครับ ว่าข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง และการใช้อย่างถูกวิธีเป็นอย่างไร ซึ่งยอมรับว่าข้อดีมีเยอะ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และเหมาะสมกับโรคนั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกัน หากใช้ผิดวิธีก็จะเกิดผลเสียตามมา อย่างน้อยที่สุดก็คือ "เสียโอกาส" ในการรับการรักษาที่ถูกต้องครับ การรักษามะเร็งไม่ใช่เรื่องง่าย อาศัยแพทย์และสหสาขาประกอบกัน ทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง การให้ยาพุ่งเป้า เป็นต้น ซึ่งต้องทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม ที่สำคัญ เซลล์มะเร็งเวลาแบ่งตัว จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปด จากแปดเป็นสิบหก จากสิบหกเป็นสามสิบสอง... ดังนั้น หากรักษาผิดวิธี ก็จะลุกลามไปเรื่อย ๆ และยากที่จะกลับมาแก้ไขได้ "กัญชาไม่ได้รักษามะเร็ง แต่มีงานวิจัยว่ากัญชาอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากยาเคมีบำบัด และช่วยลดอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย" ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ และยืนยันได้ว่าการใชกัญชาอาจได้ประโยชน์ มีเพียง 4 กลุ่มโรค/กลุ่มอาการ เท่านั้นคือ 1. กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) Zajicek J, Fox P, Sanders H, Wright D, Vickery J, Nunn A, et al. Cannabinoids for treatment ofspasticity and other symptoms related to multiple sclerosis (CAMS study): multicentre randomised placebo-controlled trial. Lancet 2003;362(9395):1517-26. 2. ลมชักที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน (Intractable epilepsy) Devinsky O, Cross JH, Laux L, Marsh E, Miller I, Nabbout R, et al. Trial of cannabidiol for drugresistant seizures in the Dravet Syndrome. New Engl J Med 2017;376(21):2011-20. Devinsky O, Marsh E, Friedman D, Thiele E, Laux L, Sullivan J, et al. Cannabidiol in patients withtreatment-resistant epilepsy: an open-label interventional trial. Lancet Neurol 2016;15(3):270-8. 3. ปวดประสาท (Neuropathic pain) Toward Optimized Practice. PEER simplified guideline: medical cannabis clinical practice guideline2018 [cited 15 March 2019]. Nugent SM, Morasco BJ, O'Neil ME, Freeman M, Low A, Kondo K, et al. The effects of cannabis among adults with chronic pain and an overview of general harms: a systematic review. Ann Intern Med 2017;167(5):319-31. 4. อาการคลื่นไส้ อาเจียน จากยาเคมีบำบัด (Nausea/Vomiting) Whiting PF, Wolff RF, Deshpande S, Di Nisio M, Duffy S, Hernandez AV, et al. Cannabinoids for Medical Use: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA 2015;313(24):2456-73. Smith LA, Azariah F, Lavender VT, Stoner NS, Bettiol S. Cannabinoids for nausea and vomiting in adults with cancer receiving chemotherapy. The Cochrane database of systematic reviews 2015;12(11):CD009464. ส่วนโรคอื่น ๆ ที่อาจได้ประโยชน์จากกัญชานั้น ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนแต่อย่างใด แต่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยครับ