เปิดเวทีสัมมนาใหญ่แห่งปี Agri Forum 2019 เกษตรปลอดการเผา จัดเต็มขนวิทยากรจากทุกภาคส่วนร่วมถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นเกษตรกรไทยร่วมใจทำเกษตรแบบไม่เผา ตั้งเป้า 3 ปีพื้นที่เกษตร 140 ล้านไร่ ปลอดการเผา 100% เมื่อวันที่ 31 ก.ค.62 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนา Agri Forum 2019 เกษตรปลอดการเผา ภายใต้แนวคิด “The World of Unburnt Farm” ซึ่งบริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นเกษตรกรไทยให้ทำการเกษตรแบบไม่เผา พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนด้านองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่เกษตรกรไทย ได้พัฒนาการทำเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ณ ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี นายประภัตร กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าว ช่วยผลักดันเชิงนโยบายและจัดกิจกรรมในพื้นที่จริงให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการเกษตรปลอดการเผา Zero Brun ลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรซึ่งตั้งเป้าพื้นที่ภาคเกษตรกรของไทยกว่า 140 ล้านไร่ ให้ปลอดการเผา 100% ภายในระยะเวลา 3 ปี อีกทั้งเพื่อให้เกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม และจะทำให้มลพิษจากการเผาสินค้าทางการเกษตรของเกษตรหมดไป รวมถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น ด้าน นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สยามคูโบต้า กล่าวว่า สยามคูโบต้า จัดงานสัมมนา Agri Forum ขึ้น ซึ่งเป็นงานสัมมนาครั้งใหญ่ประจำปีที่ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่เกษตรกรไทย ได้พัฒนาการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างสูงที่สุด โดยในปีนี้ งานสัมมนา Agri Forum 2019 เกษตรปลอดการเผา ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The World of Unburnt Farm โดยได้จับมือกับ 3 พันธมิตรหน่วยงานภาครัฐในเรื่องข้าว อ้อย และสินเชื่อเพื่อเกษตรกร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยผลักดันเชิงนโยบายและการจัดกิจกรรมในพื้นที่จริงให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการเกษตรปลอดการเผา Zero Burn ลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตร ในงานสัมมนา Agri Forum 2019 เกษตรปลอดเผา มีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งในงานสัมมนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 Showcase Best Practice: หัวข้อ ถ้าวันนั้น…ไม่หยุดเผา การสัมภาษณ์เกษตรกรต้นแบบในการปลูกข้าวและอ้อยแบบปลอดการเผา ที่เปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบเดิมมาเป็นแบบรักษ์โลก ช่วงที่ 2 Government Policy: Lecture of Pollution Problem and Policy ปาฐกถาพิเศษจากผู้แทนภาครัฐด้านนโยบายและโครงการสนับสนุนเกษตรปลอดการเผาเพื่อเกษตรกร โดย กรมการข้าว หัวข้อ ข้าวไทย..ไปต่อไม่รอแล้วนะ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หัวข้อ ชาวไร่อ้อย 4.0 ของ มัน ต้อง เป็น และสยามคูโบต้า หัวข้อ Zero Burn Solution: เทคโนโลยีเกษตรปลอดการเผาเพื่ออนาคต และ ช่วงที่ 3 Panel Discussion: หัวข้อ Agri Circular Economy คิดก่อน…(เผา)…ทิ้ง เสวนาที่ช่วยสร้างความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (ดิน,อากาศ) และสุขภาพ เพื่อเพิ่มรายได้จากการนำสิ่งเหลือใช้มาสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมควบคุมมลพิษ กรมพัฒนาที่ดิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสยามคูโบต้า นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับการทำการเกษตรแบบปลอดการเผา การสร้างรายได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว ใบอ้อย และใบข้าวโพด โดยแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซน Zero Burn Solution ด้วยวิธี KUBOTA (Agri) Solutions พืชข้าวและอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร Machinery Solutions และองค์ความรู้ด้านการเกษตร Knowledge Solutions มาปรับใช้ และโซน Zero Burn Benefits นิทรรศการให้ความรู้และประโยชน์ของการทำเกษตรแบบปลอดการเผา จากหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรทั่วประเทศเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการทำเกษตรที่ไม่เผา ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าว ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสยามคูโบต้า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เพื่อให้ความรู้ ส่งเสริม และทำกิจกรรมร่วมกันในการสนับสนุนชาวนาทำเกษตรแบบปลอดการเผา โดยกรมการข้าวได้วางมาตรการหลักไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้ชาวนา 2.การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และ 3.มาตรการทางกฎหมาย โดยในปี 2562 นี้มีเป้าหมายนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท และปทุมธานี ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งในงานสัมมนา Agri Forum 2019 กรมการข้าวได้ร่วมนำเสนอด้านนโยบายและโครงการสนับสนุนเกษตรปลอดการเผาเพื่อเกษตรกร ขณะที่ นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สอน. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบาย กำกับ ดูแล ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่องและอุตสาหกรรมชีวภาพ จึงได้นำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติรับทราบและเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 โดยจะดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.มาตรการทางกฎหมาย 2.การสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ และ 3.มาตรการภาคสมัครใจ นอกจากนี้ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสยามคูโบต้า องค์กรชาวไร่อ้อย สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อกำหนดแนวทางจัดการเกษตรแบบปลอดการเผาในอ้อย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมาอีกด้วย สำหรับงานสัมมนา Agri Forum 2019 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้เกษตรกรได้เห็นอุปกรณ์ เทคนิคและนวัตกรรมให้นำไปปรับใช้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน ที่จะนำไปสู่การเกษตรแบบปลอดการเผาอย่างยั่งยืน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 และ 10 กรกฎาคม 2562 ธ.ก.ส. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับสยามคูโบต้า เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในการปล่อยสินเชื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ในโครงการเกษตรปลอดการเผา นอกจากนี้ธนาคารยังมีผลิตภัณฑ์สนับสนุนโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม ได้แก่ สินเชื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Green Credit) สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่งในงานสัมมนา Agri Forum 2019 ธนาคารพร้อมที่จะสนับสนุนและดูแลเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรปลูกข้าวโพดที่ยังไม่มีเจ้าภาพในขณะนี้ เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการรับรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการตลาดของสินค้าเกษตรในปัจจุบันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นควบคู่ไปกับการช่วยลดปัญหามลพิษ