ระบุไวรัสบีลดลงมาก แต่ไวรัสซียังพบมากในผู้ติดเชื้อเอดส์-ใช้ยาเสพติดแบบฉีด ทั้งเร่งขยายมาตรการกำจัดไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มใน 8 กลุ่มเสี่ยง เผยล่าสุดได้บรรจุยา Sofosbuvir และ Veltaspavir เข้าสู่สิทธิบัตรยารักษาไวรัสซีได้ทุกคน ใช้เวลา 3 เดือนหายขาด นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ และเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ ข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 257 ล้านคน และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 71 ล้านคน สำหรับไทยคาดมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านคน โดยพบมากช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากไทยมีระบบให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ตั้งแต่ปี 2535 ทำให้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลดลงจากอดีตมาก ในปี 2559 คาดว่าเด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 3,800 คน และคาดประมาณผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 356,670 คน ซึ่งพบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ทั้งนี้ ปีนี้กรมควบคุมโรคได้คัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซีในผู้ต้องขังในเรือนจำ 22 แห่ง ในปี 62 และจะขยายเป็น 54 แห่ง ในปี 63 จากนั้นขยายให้ครบ 142 แห่งทั่วประเทศ ในปี 64 ตามโครงการพระดำริในพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ, กำจัดไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ใน 15 จังหวัด, ร่วมกับสมาคมตับแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมาตรการกำจัดไวรัสตับอักเสบซี โดยขยายความครอบคลุมเพิ่มอีก 8 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่  1)ผู้ต้องขังหรือเคยมีประวัติต้องขัง 2)ชายรักชาย 3)พนักงานบริการทางเพศ 4)ผู้ที่เคยได้รับเลือดและ/หรือรับบริจาคอวัยวะก่อนปี 2535  5)ผู้ที่เคยสักผิวหนัง เจาะผิวหนังหรืออวัยวะต่างๆ ในสถานประกอบการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล 6)ผู้ที่มีภาวะไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไตเป็นประจำ 7)ผู้ที่เคยรับการรักษาจากผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น ฉีดยา ทำฟัน หรือหัตถการอื่นๆ 8)ผู้ที่มีค่าเอนไซม์ตับสูงกว่าค่าปกติ นพ.ปรีชากล่าวว่า เชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 5-9 ส.ค.62 ณ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ 79 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ (รายชื่อ 79 รพ.ที่เข้าร่วมโครงการฯ http://bit.ly/2LHJMM9) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี ผู้แทนสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เปลี่ยนจากการรักษาไวรัสตับอักเสบซี จากยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ และลดขั้นตอนการตรวจยืนยันโดยยกเลิกการตรวจยืนยันด้วย Fibroscan เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างง่ายๆที่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ           นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบให้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ ยา Sofosbuvir และ Veltaspavir ได้รับการบรรจุเข้าสู่สิทธิบัตรยาในวันที่ 11 ก.ค.62 ในชื่อ Myhep All ทำให้สามารถรักษาได้ในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทุกคน  และใช้เวลาเพียง 12 สัปดาห์ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้