เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.62) นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวถึงการออกคำสั่งให้นิติกรและนายช่างสำรวจ 4 คนจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมามาช่วยราชการที่ส.ป.ก. ส่วนกลางว่า ต้องการให้เข้ามาให้ข้อมูลด้านกฎหมายและการสำรวจแนวเขตของเขตปฏิรูปที่ดินในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวซึ่งมีข้อร้องเรียนมายังส.ป.ก. กลางว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์ส.ป.ก. 4-01 อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งยังมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับแนวเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุว่า ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นการโยกย้ายและยังไม่ได้ชี้ว่า มีความผิดใดๆ แต่เนื่องจากทำงานด้านกฎหมายและสำรวจรังวัดอยู่ในพื้นที่พิพาทจึงมั่นใจว่า จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เลขาธิการส.ป.ก. แก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ข้าราชการที่ถูกสั่งไปช่วยปฏิบัติราชการ 4 นาย ได้แก่ 1.นายนิสิทธิ์ จันทโชติ ตำแหน่งนิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักกฎหมาย 2.นายฉัตรชัย จันทร์เต็มดวง ตำแหน่งนิติกรชำนาญการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานกฎหมาย 3.นายปรีชา ประภานุกูล นายช่างสำรวจอาวุโส สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ช่วยปฏิบัติราชการสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน และ4.นายประจวบ ร่มสุข นายช่างสำรวจชำนาญงาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ช่วยปฏิบัติราชการสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน ด้าน แหล่งข่าวจาก ส.ป.ก. ระบุว่า จากปัญหาที่ทางส.ป.ก. ได้ปักหมุดเขตปฏิรูปที่ดินในอำเภอวังน้ำเขียว ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยยังไม่มีการกันพื้นที่ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินแต่อย่างใด ทั้งนี้เดิมกรมป่าไม้ซึ่งขณะนั้นดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้กันเขตที่ดินในป่าวังน้ำเขียวให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพียง 2 แปลง หลังจากนั้นสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วลงนามในคำสั่งที่ 66/2523 ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์กลับมาอยู่ในสังคมตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงได้ให้ผู้กลับใจมาอาศัยที่หมู่บ้านไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียวในปัจจุบัน รวมทั้งมีนโยบายจะกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ แต่ยังไม่ได้มีกฎหมายหรือมติใดๆ มารองรับนโยบายดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นกรมอุทยานฯ ต่อมาได้แยกออกจากกรมป่าไม้ยังคงถือว่า ที่ดินบริเวณนั้นเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนส.ป.ก. นั้นจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีผลบังคับใช้หลังพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่ส.ป.ก. ได้ยึดถ้อยคำตามมาตรา 26 (4) ที่ว่า “เมื่อส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีความหมายว่า เมื่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีความพร้อมจะนำที่ดินแปลงใดในเขตที่จะประกาศในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินแน่นอนและมีแผนงาน พร้อมทั้งงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการแล้ว พระราชกฤษฎีกาฯ ก็จะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติเฉพาะในที่ดินแปลงนั้น” จึงได้กันเขตปฏิรูปที่ดินหลายแปลงในอำเภอวังน้ำเขียว รวมทั้งปักหมุดเขตส.ป.ก. ไว้ด้วย ขณะที่ แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ ระบุว่า เขตป่าสงวนที่กรมป่าไม้ยกให้ส.ป.ก. มีเพียง 2 แปลงเท่านั้น แต่เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติยังไม่มีการกันพื้นที่ใดๆ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน แต่ต่อมาพบการออกเอกสารสิทธิ์ส.ป.ก. 4-01 แก่ที่ดินหลายแปลงเช่น ในพื้นที่ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และเขาโสตน โดยส.ป.ก. ใช้วิธีประกาศเขตตามเขตการปกครองของตำบลและอำเภอ ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาตินั้น หากจะกันพื้นที่ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินจะต้องสำรวจให้แน่ชัดว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นป่าแล้วจึงจะกันเขตให้โดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้เมื่อมีการปักเขตปฏิรูปที่ดินและออกเอกสารสิทธิ์ส.ป.ก. 4-01 ในพื้นที่หลายๆ แปลง โดยยังไม่ชัดเจนว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้นทำให้มีราษฎรมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น จากนั้นผู้ครอบครองหลายรายซื้อขายเปลี่ยนมือ มีผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรเข้าไปครอบครองทำประโยชน์และสร้างรีสอร์ทจำนวนมาก ต่อมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีนโยบายให้ทุกหน่วยงานยึดถือแผนที่เดียวกันจึงจัดทำโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและปัญหาการขาดที่ดินทำกิน โดยมีแนวทางปฏิบัติว่า หากทุกหน่วยงานใช้แผนที่เดียวกันและได้สำรวจแล้วว่า พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ แต่ปัจจุบันไม่มีสภาพป่าแล้ว ให้กันออกจากเขตป่าหรือเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อเข้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) แต่ทั้งนี้โครงการทำ One Map ทั้งของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และส.ป.ก. ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จึงยังไม่สามารถแก้ไขการทับซ้อนของแนวเขตของแต่ละหน่วยงานได้ ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติซึ่งมีแนวเขตที่ดินของส.ป.ก. มาทับซ้อนอยู่เพื่อจะได้กำหนดแนวทางหาข้อยุติที่ถูกต้องตามกฎหมายและแก้ไขปัญหาพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในจังหวัดนครราชสีมาที่มีมายาวนานให้สำเร็จต่อไป