สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง สนับสนุนเกษตรกรใช้แมลงหางหนีบ จัดการหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดมาตรการควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุด โดยให้เจ้าหน้าที่เกษตรทุกจังหวัดที่มีการปลูกข้าวโพดเร่งสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาด และรายงานผลการสำรวจทุกสัปดาห์ รวมทั้งรณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดแก่เกษตรกร และให้ควบคุมหนอนกระทู้ด้วยชีววิธี พร้อมผลิตพ่อแม่พันธุ์แมลงศัตรูธรรมชาติและแมลงศัตรูธรรมชาติพร้อมปล่อย ได้แก่ แตนเบียนไข่ ไตรโคแกรมมา และแมลงตัวห้ำ จำพวกแมลงหางหนีบ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต “สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เขตรับผิดชอบ 9 จังหวัดภาคตะวันออก ทำการผลิตพ่อแม่พันธุ์แมลงศัตรูพืช เช่น แมลงหางหนีบเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดปล่อยในแปลงปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยก่อนมอบให้เกษตรกรจะมีการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรในการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณในกล่องเลี้ยง เมื่อได้จำนวนมากแล้วก็นำตัวที่โตเต็มที่ไปปล่อยในแปลงข้าวโพด เพื่อทำลายหนอนกระทู้ต่อไป”นายดำรงฤทธิ์ กล่าว ด้าน นายกฤษฎา ฉิมอินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โดยปกติศูนย์ฯ จะผลิตขยายศัตรูธรรมชาติซึ่งมีอยู่หลายตัว ถ้าเป็นตัวห้ำ ได้แก่ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต และแมลงหางหนีบ สำหรับตัวเบียนก็มีแตนเบียนชนิดต่างๆ เช่น แตนเบียนอนาไกรัส ซึ่งใช้ในการกำจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลังสีชมพู แตนเบียนบราคอน ใช้ในการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว แตนเบียนหนอนแมลงดําหนามมะพร้าว และและแตนเบียนไข่ทริโคแกรมม่า ใช้ในการกำจัดไข่ของผีเสื้อไม่มีขนปกคุลม ส่วนจุลินทรีย์ก็จะเป็นเชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้กำจัดโรคพืช เป็นต้น “ศูนย์ฯ จะเป็นหน่วยสนับสนุนถ้าเกษตรกรมีความต้องการหรือร้องขอ ก็จะไปสนับสนุนคือไปอบรมให้ เมื่อเกษตรกรทำเป็นแล้วก็จะสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ให้ เกษตรกรสามารถเอากลับไปเลี้ยงเองได้ ซึ่งตัวแมลงหางหนีบเลี้ยงง่าย วิธีการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก เลี้ยงในภาชนะอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นกล่อง จะเป็นกะละมังที่เกษตรกรมีใช้กันทุกครัวเรือนก็ได้ เพียงเอาพ่อแม่พันธุ์ใส่ลงไปเอาอาหารให้แล้วรอการผสมพันธุ์วางไข่ไม่กี่วันก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นมาเลี้ยงจนโตก็นำไปปล่อยในแปลงข้าวโพดเพื่อให้กินหนอนกระทู้ข้าวโพดได้เลย โดยปล่อยประมาณ 100 ตัวต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ปล่อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้แมลงมีปริมาณมากพอ แล้วแมลงหางหนีบก็ออกจะลูกออกหลานเพิ่มปริมาณตามธรรมชาติ ซึ่งหากแมลงหางหนีบมีปริมาณมากเท่าไหรโอกาสการเพิ่มปริมาณของหนอนกระทู้ข้าวโพดก็จะลดลง"นายกฤษฎา กล่าว สำหรับแปลงปลูกข้าวโพดนั้นการนำแมลงหางหนีบไปปล่อยจะเป็นผลดีต่อการกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดได้อย่างยาวนาน แม้เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวฝักข้าวโพดแล้ว แมลงหางหนีบจะลงไปอาศัยในดิน กินเพลี้ยที่อยู่ตามต้นหญ้าหรือแมลงเล็กๆ ชนิดอื่นที่อยู่ในดินเป็นอาหารได้ เมื่อถึงฤดูการปลูกข้าวโพดและข้าวโพดโตขึ้นมาหากมีหนอนเข้ามากัดกินต้นข้าวโพด แมลงหางหนีบก็จะไปกินหนอนเหล่านั้นเป็นอาหารทันที โอกาสที่หนอนกระทู้จะระบาดก็ลดลง แต่ที่สำคัญเกษตรกรจะต้องไม่ใช่วิธีเผาตอซังข้าวโพดในการเตรียมแปลงปลูก เพราะจะทำให้แมลงหางหนีบตายไปด้วย “อยากให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงข้าวโพดของตนเองว่ามีหนอนไหม ถ้ามีก็รีบกำจัดตั้งแต่ยังมีจำนวนน้อย และยังตัวเล็กอยู่จะกำจัดได้ดีกว่าปล่อยให้ระบาด อีกอย่างหนึ่งถ้าเกษตรกรคิดจะใช้สารเคมีก็ขอให้ใช้สารเคมีตามที่ราชการแนะนำเท่านั้นอย่าไปหาซื้อใช้โดยไปถามกับร้านค้าเอง เพราะสารเคมีที่ใช้กำจัดแมลงพวกนี้จะเฉพาะเจาะจงอยู่บ้างถ้าใช้ยาผิดประเภทก็จะไม่ได้ผลทำให้สูญเสียเงินเปล่าๆ ที่สำคัญต้อง สำรวจดูแปลงปลูกว่ามีแมลงศัตรูพืชเข้ามาหรือยัง ถ้ามีมาก็ให้แจ้งกับสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือแจ้งมาที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดชลบุรีก็ได้ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงไปติดตามแล้วหามาตรการแก้ไขและป้องกันกันต่อไป”ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดชลบุรี กล่าว จากการประเมินสถานการณ์และผลหลังจากใช้มาตรการข้างต้น ในพื้นที่มีการระบาดของพื้นที่ควบคุมดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์การระบาด รวมถึงวิธีป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ลายจุด เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ดำเนินการตามคำแนะนำและสามารถป้องกันกำจัดได้ ส่วนเกษตรกรที่ขาดการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทางศูนย์ฯ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ จะส่งเสริมให้ไถแปลงแล้วปลูกใหม่ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ตัดต้นข้าวโพดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์แทนการเผาทำลาย ที่ผ่านมาภายหลังจากการรณรงค์ฯ เกษตรกรต่างเห็นความสำคัญในการป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ลายจุดโดยการนำแมลงหางหนีบศัตรูธรรมชาติไปเลี้ยงในศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เพื่อขยายพันธุ์และปล่อยในพื้นที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง