กลุ่มนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าพบ รมว.สาธารณสุข และรมช.เกษตรฯ ขอความชัดเจนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ระบุมีความสนใจใช้ไทยเป็นฐานการปลูกและผลิตของอาเซียน หากรัฐบาลไทยไฟเขียว เล็งเฟสแรก 150 ไร่ วันที่ 30 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายรัฐชทรัพย์ นิชิด้า ผู้ช่วยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ได้นำกลุ่มนักธุรกิจชาวสหรัฐที่ผลิตยาจากสารสกัดกัญชาจำนวน 10 ราย ซึ่งเป็นบริษัทมีความเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตยาจากสารสกัดกัญชา มาพบนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข และ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอทราบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายการใช้กัญชาในทางการแพทย์ของรัฐบาลต่อเรื่องการปลูกกัญชาเพื่อการรักษาโรค โดยระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เปิดให้มีการทำวิจัยโดยองค์การเภสัชกรรมที่จะผลิตสารกัญชา หรือ CBD ซึ่งนักธุรกิจกลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้วและมีความสนใจที่จะนำเทคโนโนโลยีการผลิตที่จะได้สาร CBD อย่างแม่นยำ และนำไปรักษาโรคได้อย่างตรงจุดในอัตราที่เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้ป่วย ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทนี้ผลิตยาให้ ผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 23 ล้านคน ซึ่งในอเมริกาและยุโรปปลูกได้เพียงครั้งเดียวต่อปี ทำให้ผลผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากรัฐบาลเปิดกว้างให้บริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินการวิจัยและผลิตต้องใช้พื้นที่ในโครงการแรกประมาณ 150 ไร่ ซึ่งจะผลิตสาร CBD ได้ประมาณ 4.5 ตัน ต่อเดือน ซึ่งจะต้องมีการสร้างโรงกลั่นเพื่อสกัดสาร กัญชา โรงงานผลิตยา จึงมาขอทราบความชัดเจนว่ารัฐบาลมีนโยบายอย่างไร และอยากทราบว่าตามกฎหมายไทยกัญชาเป็นพืชสมุนไพรหรือเป็นยา เพื่อจะทำให้เกิดความชัดเจนว่าสารดังกล่าวนำไปใช้กับโรคใดได้บ้าง ถ้าสมุนไพรจะใช้ทางการแพทย์ได้กับโรคกี่ชนิด แต่หากเป็นยา จะใช้กับโรคเฉพาะทางได้ตรงกับโรค ว่าโรคใดใช้ขนาดเท่าไหร่ ที่ต้องดูช่วงอายุของคนป่วย กับจำนวนครั้งที่ใช้ พร้อมกับต้องมีผลการรักษายืนยันที่ชัดเจน ซึ่งเป็นแผนการรักษาได้เห็นผลจริงกับโรคนั้นๆไม่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าสารสกัดกัญชา เป็นยาครอบจักรวาล สำหรับกัญชาที่ปลูกในเมืองไทย ขณะนี้ยังไม่ดูรายละเอียดที่ต้องให้ความสำคัญมาก ในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพดินที่ผ่านการใช้สารเคมีต่างๆ มานาน เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งเมื่อปลูกไปแล้วทำให้มีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ในต้นกัญชา ทำให้คุณภาพยาที่ได้อาจลดลง ซึ่งการปลูกกัญชาจะต้องมีมาตรฐานสูงกว่า GAP เรียกว่าGPPที่จะต้องมีการทดลองปลูกจนพบว่าไม่มีสารโลหะหนักอยู่ในสารสกัดกัญชา และเป็นโอกาสที่ไทย จะเป็นฮับของอาเซียนในการปลูกและผลิตยาจากสารCBD ที่มีคุณภาพระดับโลก ซึ่งการประชุมวันนี้ ได้มีทั้งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมประชุมหารือ การขับเคลื่อนนโยบายการใช้กัญชาในทางการแพทย์ โดยมีหลายหน่วยงานมาแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับนักธุรกิจสหรัฐ ถ้าหากมีความร่วมมือกันแล้ว จะมีการกำหนดพื้นที่ปลูก หรือโซนนิ่ง ตามกฎหมายไทย