หากกล่าวถึง “หมู่เกาะในทะเลจีนใต้” ก็ได้รับให้เป็น “พื้นที่อ่อนไหว (Sensitive Area)” แห่งหนึ่งของโลกใบนี้ ในฐานะมีอัตราความเสี่ยงสูงที่พื้นที่จะกลายเป็นสมรภูมิ ทำยุทธสงครามกัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของเหล่าบรรดาชาติที่ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองเกาะแก่งต่างๆ ในน่านแห่งนั้น โดยบรรดาชาติคู่ขัดแย้ง ก็กอปรด้วยประเทศคู่ปรปักษ์ยักษ์ใหญ่ อย่าง จีนแผ่นดินใหญ่ หรือพญามังกร กับประเทศอื่นๆ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไต้หวัน ซึ่งชาติเหล่านี้ ต่างก็มีอาณาเขตของประเทศคาบเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทในน่านน้ำข้างต้น นอกจากนี้ ก็ยังมีชาติมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งด้วยเหตุผลข้ออ้างถึงเรื่องสิทธิการเดินเรือในน่านน้ำสากล และความพยายามแข่งขันกันในเชิงอิทธิพลระหว่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และรัสเซีย เป็นอาทิ รวมถึงยังมีชาติอื่นๆ เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ด้วย เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ แต่ละประเทศผู้ขัดแย้งคู่กรณี ต่างก็มียุทธวิธีที่จะตอกย้ำถึงความมีกรรมสิทธิ์เป็นใหญ่ในพื้นที่แตกต่างกันออกไป “คาลายาน” สิ่งปลูกสร้างที่เปรียบเสมือนศาลาว่าการประจำเมืองของเกาะทิตู และอนุสาวรีย์ของ “โทมัส โคลมา” นักการศึกษาด้านนาวีของฟิลิปปินส์ ไม่ว่าจะเป็นการผุดสิ่งปลูกสร้าง และฐานทัพ ตลอดจนสร้างเกาะเทียม บริเวณเกาะพิพาท ของจีนแผ่นดินใหญ่ การนำกองเรือรบสมรรถนะสูงๆ มาลาดตระเวนในน่านน้ำพิพาท แบบประกาศศักดากันอยู่ในที โดยสหรัฐฯ การตั้งฐานทัพบนเกาะพิพาทของเวียดนาม การพึ่งพาคำสั่งศาลระหว่างประเทศ เช่นฟิลิปปินส์ ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศพิพากษา ล่าสุด “ฟิลิปปินส์” ถิ่น “ตากาล็อก” ก็ได้กระฉูดไอเดียอันบรรเจิด เมื่อเกิดความคิดขึ้นมาว่า จะใช้แผนการสถาปนาสถานท่องเที่ยวบนพื้นที่หมู่เกาะพิพาท เป็นหมากเด็ด สำหรับการยืนยันในการเอ่ยอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบนเกาะที่กำลังพิพาท ด้วยทางจีนแผ่นดินใหญ่ หมายปองรุกคืบเพื่อมาครอบครอง ทหารฟิลิปปินส์ ที่ประจำการบนเกาะทิตู ยืนเคารพธงชาติบริเวณด้านหน้าศาลาว่าการ “คาลายาน” นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรี่าการกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ เป็นผู้เปิดเผยถึงแผนการข้างต้นนั้น โดยแผนการที่ว่า จะเริ่มเปิดฉากนำร่องกันที่ “เกาะทิตู” ซึ่งเป็นเกาะหนึ่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยเกาะทิตู ที่ว่า ก็จัดว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของหมู่เกาะดังกล่าว ทั้งนี้ ทางการฟิลิปปินส์ ก็จะตะลุยแผนการโปรโมตให้เกาะทิตู เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำอีกแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์ ในฐานะสถานท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และบรรยากาศอันเงียบสงบ ด้วยมีประชากรชาวฟิลิปปินส์ พำนักอาศัยอยู่เพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น ซึ่งจะเปิดประเดิมด้วยโครงการก่อสร้างโรงแรมให้บังเกิดหลายแห่งบนเกาะแห่งนั้นก่อน วัตถุประสงค์ของบรรดาโรงแรมที่จะผุดขึ้น เบื้องต้นก็เพื่อใช้รองรับเป็นที่พักของคณะนักท่องเที่ยว ที่จะมาเยี่ยมเยียนเกาะแก่งแห่งนี้เป็นปฐม ฐานทัพอากาศฟิลิปปินส์บนเกาะทิตู ที่มาที่ไปอันทำให้รัฐบาลมะนิลา ต้องรีบหาแผนการ จนมาปิ๊งไอเดียที่จะผุดให้เกาะทิตู กลายเป็นเกาะท่องเที่ยวกันในแบบเร่งด่วนฉะนี้ ก็มาจากเหตุการณ์ที่กองเรือไม่ทราบชนิดของจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวนกว่า 100 ลำ แล่นมาลอยลำรอบๆ เกาะ จนสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชาวตากาล็อกที่พำนักอาศัยอยู่บนเกาะ ตลอดจนไปถึงรัฐบาลฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา เลยเป็นที่มาของแผนการโปรโมตการท่องเที่ยวบนเกาะทิตู ซึ่งนอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นรายได้เข้าประเทศแล้ว ก็ยังเป็นตอกย้ำถึงกรรมสิทธิ์ครอบครองเหนือเกาะใหญ่เป็นอันดับสองของหมู่เกาะสแปรตลีย์แห่งนี้ โดยยุทธวิธีที่อาจเรียกได้ว่า “การท่องเที่ยวสยบมังกร” มิให้มายึดครองเหนือเกาะแก่งแห่งน่านน้ำพิพาท นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์