รมว. เกษตรฯ เน้นย้ำให้รักษามาตรฐานคุณภาพผลผลิตและการบรรจุ ศุลกากรจีนเพิ่มการตรวจเข้ม หากไม่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มาได้จะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ หลังพบมีการนำทุเรียนด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้านสวมชื่อทุเรียนไทยส่งไปจีน เมื่อวันที่ 30 ก.ค.62 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จีนยังคงมีความต้องการบริโภคทุเรียนไทยต่อเนื่อง ทุเรียนที่นิยมบริโภคในตลาดจีนได้แก่ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และพวงมณี ซึ่งทุเรียนที่เข้าตลาดจีนจะจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้าและผ่านตลาดค้าส่งเจียงหนาน เมืองกว่างโจวเพื่อกระจายต่อไปยังเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและมีค่าครองชีพสูงทำให้ได้ราคาดีเช่น ที่ปักกิ่ง เซียงไฮ้ และเจียซิง ในมณฑลเจ้อเจียง เป็นต้น ในเดือนสิงหาคมนี้ ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ออกมากที่สุด แต่ทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ตลาดจีนมากเช่นกันเนื่องจากราคาถูกกว่าทุเรียนไทย ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงเน้นย้ำเรื่องการรักษาคุณภาพและมาตรฐานเพื่อรักษาตลาดให้ยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รายงานว่า กระทรวงศุลกากรของจีนแจ้งว่า ผลไม้จากไทยที่ส่งไปจีน ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วงทุกกล่องจะต้องระบุรหัสการขึ้นทะเบียนสวนและรหัสโรงคัดบรรจุกล่องเพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกปฏิเสธการนำเข้าจากด่านนำเข้าทันที อีกทั้งก่อนหน้านี้ได้ให้ไทยส่งรายชื่อโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ได้มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรไปให้จีนตรวจสอบ สำหรับเหตุที่ศุลกากรจีนเข้มงวดการนำเข้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562 ศุลกากรด่านโย่วอี้กวน มณฑลกว่างซีพบความผิดปกติของการส่งทุเรียนไทยเข้าจีนซึ่งส่งไป 51 ตู้ ซึ่งขณะนั้นผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออกเริ่มมีปริมาณลดลงแล้ว ทางการจีนคาดว่า ปริมาณการส่งออกจากไทยไม่น่าจะมากถึงเพียงนั้น เมื่อมีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า พ่อค้าไทยร่วมมือกับพ่อค้าต่างชาตินำทุเรียนกัมพูชาและเวียดนามสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยส่งออกไปขายในตลาดเจียงหนาน มณฑลกว่างโจว โดยลดราคาขายลงต่ำมากแค่กล่องละ 600 กว่าหยวน (น้ำหนัก 18 กก./กล่อง) เทียบกับต้นทุนส่งออกทุเรียนไทยที่ 740-750 หยวน/กล่อง รวมทั้งเคยตรวจพบพ่อค้าเวียดนามนำทุเรียนหมอนทองของเวียดนามและกัมพูชาบรรจุกล่องที่ระบุเป็นทุเรียนไทยส่งไปขายในจีน นอกจากนี้ มีข้อมูลจากด่านตรวจพืชจันทบุรี รายงานว่า เมื่อเดือนมิถุนายนได้ตรวจพบการนำเข้าทุเรียนกัมพูชา 20 ตันมาบรรจุกล่องที่ล้งแห่งหนึ่งบริเวณเนินสูง จังหวัดจันทบุรี กรมวิชาการเกษตรจึงส่งทุเรียนชุดนี้กลับไปกัมพูชา แม้ตามปกติการนำผลทุเรียนผลจากเวียดนามและกัมพูชาเข้ามาประเทศไทยสามารถทำได้ แต่ต้องผ่านพิธีการศุลกากร รวมถึงการตรวจสอบโรคเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate : PC) และต้องนำเข้าตามช่องทางที่ถูกต้องคือ จุดผ่านด่านถาวรบ้านผักกาด และบ้านแหลม อีกสาเหตุที่ทำให้มีการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยเนื่องจากปีนี้จีนไม่อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนเวียดนาม พ่อค้าจึงลักลอบนำมาบรรจุในไทยจำนวนมาก โดยลักลอบนำเข้าผ่านจุดผ่อนปรนที่ไม่มีหน่วยงานศุลกากรและหน่วยตรวจสอบพืชประจำอยู่ รวมทั้งผ่านพรมแดนตามช่องทางธรรมชาติ “การกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2551 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาทและมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ผู้ใดนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของ รวมอากร หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตรระบุว่า การลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรและไม่ผ่านการตรวจสอบโรคและแมลงทำให้ไม่มีใบรับรอง PC ทำให้เกิดข้อกังวลเป็นห่วงเรื่องโรคพืชและแมลง เมื่อล้งส่งออกโดยสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยแล้วหากจีนสุ่มตรวจพบว่า ไม่ได้มาตรฐาน ทุเรียนไทยอาจเสี่ยงถูกห้ามนำเข้าจีนได้”นายเฉลิมชัย กล่าว ด้าน นายภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุด กล่าวว่า ปัญหาการนำทุเรียนกัมพูชาและเวียดนามาสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย ส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างของราคา โดยทุเรียนไทยอยู่ที่ 140-150 บาท/กก. ขณะที่ทุเรียนเพื่อนบ้านกิโลกรัมละ 80-90 บาท/กก. ในขณะที่ตลาดจีนมีความต้องการสูง จึงขอความร่วมมือสมาชิก 200 กว่ารายให้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา หากทางการจีนตรวจพบโรคและแมลงจากทุเรียนสวมสิทธิ์ การสั่งให้ตรวจเข้มทุเรียนไทยหรือระงับการนำเข้าได้นอกจากนี้ได้ขอให้เพิ่มบทลงโทษกรณีตรวจพบผู้ส่งออกหรือล้งที่ได้ขึ้นทะเบียนได้รับ GMP แต่กลับส่งออกทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน และระบุแหล่งกำเนิดสินค้าไม่ตรงตามจริงเนื่องจากปัจจุบันมีขั้นตอนการลงโทษ 3 ขั้นตอนคือ การแจ้งเตือน การพักใบอนุญาต และยกเลิกใบอนุญาต แต่เป็นมาตรการที่เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับใช้ตามกฎหมาย หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เอาจริงเอาจังจะกระทบชื่อเสียงภาพลักษณ์และการส่งออกทุเรียนไทยทั้งระบบ