จากการอภิปรายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่กล่าวถึงนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการอภิปรายที่เข้าใจง่ายซึ่งมีบางช่วงบางตอนกล่าวถึงการไปพบชาวนาอินทรีย์ที่รวมกลุ่มและส่งออกข้าวเอง ล่าสุด นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด โพสต์ ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วิจารณ์ ทิม พิธา ด้วยกัลยาณมิตร โดยระบุข้อความดังนี้....ผมยืนยันว่าเราต้องวิจารณ์เพื่อนได้ หากการวิจารณ์นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และผมไม่เชื่อว่าชาวอนาคตใหม่จะไม่เปิดรับฟังคนเห็นต่าง ==== ข้าวตันละ 3 หมื่น ส่งนอกเอง === คุณทิมอภิปรายว่า ไปพบชาวนาอินทรีย์ที่รวมกลุ่มและส่งออกข้าวเอง ได้ตันละ 30,000 บาท จนเอ๋ ราชบุรี ร้องเหว่อว่ามีจริงหรือจะยกพวกไปดูงาน ในฐานะพ่อค้าข้าวลายจุดผมมีข้อสังเกตุดังนี้ 1.ข้าวสารตันละ 3 หมื่นมาจากข้าวเปลือก 2 เกวียน เฉลี่ยแล้วข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท 2.ค่าขนส่งจากพื้นที่ไปถึงท่าเรือเป็นราคาเท่าไหร่ต่อตัน เพื่อจะหักลบว่า ตกลงราคาข้าวเปลือกจะเหลือเท่าไหร่ ? 3.องค์กรที่รับซื้อข้าวไปที่ขายที่ EU เป็นองค์กรประเภทไหน เป็น Social Enterprise หรือเป็นพ่อค้าข้าวธรรมดา มีเพดานการรับซื้อในเชิงปริมาณมั๊ย หากเราสามารถส่งข้าวคุณภาพนี้ได้เพิ่มอีกหลายแสนตัน 4.ประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างพม่า เขมร ปลูกข้าวอินทรีย์มหาศาล ข้อจำกัดของเขามีอย่างเดียวคือระบบขนส่งในประเทศมันแย่มาก ถ้าจะแข่งขันในตลาดข้าวอินทรีย์กับพวกเขาเรามั่นใจมั๊ยว่าเราแข่งได้จริงๆในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ==== ปัญหาการผลิต หรือ ปัญหาการตลาด ==== สิ่งที่คุณทิมอภิปรายเรื่องการปรับปรุงคุณภาพการผลิต และการลดต้นทุนของเกษตรกรผมไม่ติดขัด แต่คุณทิมไม่ได้เสนอการแก้ปัญหาด้านราคาพืชผลการเกษตรแบบทั้งระบบและมองไม่เห็นรากของปัญหาที่แท้จริง คือ เรื่องปริมาณผลผลิตที่ล้นการบริโภคในประเทศในระดับที่ต้องพึ่งพาการส่งออกและส่งผลสะท้อนกลับมาที่ราคาในประเทศในที่สุด ถ้าจะแก้ปัญหาภาพใหญ่ของสินค้าการเกษตรคือต้องแก้ที่การทำให้ Demamd Supply ของสินค้าแต่ละตัวสอดคล้องกัน โลกผ่านช่วงการเกษตรแบบเพิ่มผลผลิตมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อก่อนคนจีนเคยอดตายเป็นล้านคนเพราะภัยแล้ง ญี่ปุ่นต้องแบกพ่อแม่ที่แก่เฒ่าไปตายบนยอดเขาเพื่อให้ลูกหลานมีข้าวเหลือกิน สหภาพโซเวียตเคยซื้อข้าวไทยเพราะข้าวสาลีไม่เพียงพอ แต่เมื่อ 3ปีก่อนข้าวสาลีของรัสเซียท่วมโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สินค้าเกษตรทั่วโลกตอนนี้คือ การผลิตล้นความต้องการบริโภค คำตอบเรื่องนี้คือ Zoning + Big Data เราต้องลดปริมาณการผลิตลง 30 % เปลี่ยนพื้นที่การผลิตพืชไร่ ไปสู่กการผลิตพืชพลังงาน ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ และการทำธนาคารต้นไม้ หรืออุตสาหกรรมไม้ยืนต้นเพื่อเป็นเงินออมระยะยาว เอาเฉพาะไฟฟ้าที่ต้องการเพิ่มขึ้นหลังรถยนต์เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปปีหนึ่งก็เกินล้านๆบาทแล้ว มากพอที่จะเอาพื้นที่ๆหายไปจากการเปิดพืชไร่มาผลิตไฟฟ้า นี่ไม่ใช่ข้อเสนอติดกระดุม แต่คือการออกแบบชุดคิดด้านการเกษตรไทยทั้งหมด ปฏิวัติการเกษตรแห่งยุคสมัยที่แท้จริง