“โกวิทย์” ฝาก รบ. กำหนดนโยบายกระจายอำนาจท้องถิ่นให้ชัดเจน เพื่อสร้างกลไกการปกครองท้องถิ่นสู่ความเข้มแข็ง พร้อมเสนอ รมต.ด้านการศึกษา เร่งปฏิรูปมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องนโยบายระบบการศึกษาปริญญาชุมชน เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 62 ที่หอประชุมใหญ่ ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.) ได้อภิปรายนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาว่า ตนมีความสนใจการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ที่ในนโยบายรัฐบาลเขียนไว้ คือ ระบบการศึกษาปริญญาชุมชน เป็นการศึกษาที่ใช้ปริญญาชุมชน โดยเน้นการจัดหลักสูตรระยะสั้น เพื่อเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน คิดว่าสิ่งที่ปรากฎในนโยบายคล้ายกับระบบการศึกษาสมัยใหม่ ต้องเป็นไปตามความต้องการของพี่น้องประชาชน ในรูปแบบของการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ตนมีความเป็นห่วงเรื่องแนวทางของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ตอบโจทก์เรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ และตอบโจทก์ในเรื่องระบบการศึกษาที่เรียกว่า ปริญญาชุมชน จึงอยากฝากถึงรมว.ศึกษาธิการ และรมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่า การจัดการศึกษาต้องดูเรื่องปฏิรูปมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทก์ตามนโยบายดังกล่าว หรือควรวางแนวทางอย่างไร โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎ พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชน และท้องถิ่น ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวว่า อีกนโยบายที่น่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยนบายของพรรคพลังท้องถิ่นไท คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการเพิ่มบทบาทการปกครองท้องถิ่น และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นให้บริหารจัดการตนเองได้ หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 หมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น กำหนดให้รัฐดำเนินการให้องค์กรปกครองท้องถิ่น มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หารายได้ของตนเอง เป็นการเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่น และจำเป็นต้องปฏิรูปอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น ในเรื่องนี้ ตนคิดว่า ยังมีการทับซ้อนกันระหว่างอำนาจรัฐ กับท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม ในนโยบายได้เขียนไว้ทำอย่างไรที่จะให้องค์กรท้องถิ่นมีศักยภาพด้านรายได้มากขึ้น ตามารัฐธรรมนูญ และที่ได้กำหนดไว้ในนโยบาย “สิ่งหนึ่งที่ผม คิดว่าอยากเสนอ และถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ มีมาตรการเรื่องการจัดระบบภาษี การจัดสัดส่วนงบประมาณรัฐบาล กับงบประมาณท้องถิ่น ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายที่จะต้องเพิ่มศักยภาพท้องถิ่น เช่น กฎหมายสหการ กฎหมายกิจการพาณิชย์ของท้องถิ่น และกฎหมายการร่วมทุนของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นให้มากขึ้น ทั้งนี้ ตามนโยบายรัฐบาล หน้า 16 และ 17 มีการเขียนเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และเมืองอัจฉริยะ คำเหล่านี้จะไปเกี่ยวพันกับการปกครองรูปแบบพิเศษหรือไม่ เพราะคิดว่า การปกครองรูปแบบพิเศษเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเมืองที่เป็นเมืองหลัก เมืองเขตชายแดน หรือเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าว ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวอีกว่า ในยุทธศาสตร์ชาติหน้า 64 เขียนไว้ว่า ลดอำนาจรัฐ และทำให้รัฐเล็กลง ซึ่งอยู่ในการปฏิรูปการบริหารภาครัฐ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ชัดเจน ฉะนั้น นโยบายรัฐบาลทั้ง 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ต้องสร้างกลไกการปกครองท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง เพื่อจะบริการสาธารณะทดแทนรัฐให้เป็นไปตามคำที่ว่า “ลดอำนาจรัฐ” และต้องถ่ายโอนอำนาจมาให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดบริการสาธารณะแทนรัฐต่อไป