"กกต." แจงยอดฉีกบัตรออกเสียงประชามติ 35 จว. เมินมือเจตนาฉีกบัตร โยนดำเนินการตามกม. ส่งสัญญานขอไม่ดำเนินคดีกลุ่มไม่เจตนา พอใจบัตรเสียต่ำกว่าคาด เตรียมประชุมผลเป็นทางการ 10 ส.ค.นี้ 8 ส.ค. 59 - ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธนิศ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกกต. แถลงสรุปผลภาพรวมการออกเสียงประชามติ ว่า สำหรับกรณีการฉีกบัตรออกเสียงประชามตินั้น ขณะนี้มีทั้งหมด 34 จังหวัด รวม 59 เหตุการณ์โดยมีเพียงรายเดียวที่มีเจตนาในการฉีกบัตร ส่วนใหญ่จะกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งทางกกต.จะทำการแก้ไขต่อไป ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวว่า สำหรับกรณีการฉีกบัตรนั้น มี 2 กรณี คือ กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการ คือผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่มีเจตนาในการทำลายบัตร ซึ่งกกต.ไม่ประสงค์ให้เกิดการดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้ แต่ทั้งนี้ทางกกต.พยายามประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ากกต.ไม่ประสงค์จะให้เป็นคดีความ เพราะเกรงว่าบุคคลดังกล่าวจะได้รับความเดือดร้อนจนส่งผลให้ไม่อยากไปเลือกตั้ง ส่วนคนที่กระทำโดยเจตนา รู้ว่าผิดยังมีเจตนาในการดำเนินการ ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กกต.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการ ในส่วนคดีประชามติที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ถ้าอยู่ในขั้นพนักงานสอบสวน หากสอบสวนได้ความว่าการกระทำต่างๆ ทำโดยไม่เจตนา ขอเป็นสัญญานจากกกต.ว่า อาจจะยุติการดำเนินคดี โดยมีการนำเสนอข้อเท็จจริงว่าไม่มีการตั้งใจในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีจำนวนบัตรเสียเพียง 3 เปอร์เซ็น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการรายงานผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ขณะนี้หยุดที่ 94 เปอร์เซ็น และมีการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการนี้ให้ทางนายกรัฐมนตรีทราบ สำหรับผลที่เป็นทางการกกต.จะมีการประชุมในวันที่ 10 ส.ค. นี้. เวลา 14.00 น. เพื่อรับรองผลอย่างเป็นทางการ หากดำเนินการทัน จะส่งให้นายกรัฐมนตรีภายในวันเดียวกันนั้น คาดว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิอยู่ที่ 58-60 เปอร์เซ็น ถือว่ามากกว่าผลการออกเสียงประชามติเมื่อปี 50 และทางกกต.พอใจผล สำหรับการร้องคัดค้านนั้น จะกระทำได้เป็นรายหน่วย หน่วยใดมีปัญหาสามารถร้องคัดค้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 16.00 น. ของวันนี้ ถึงขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียน หากมีจะนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น อาจนัดให้มีการออกเสียงใหม่ในหน่วยดังกล่าว หรือนับคะแนนใหม่ เป็นต้น แต่การดำเนินการไม่ได้มีผลต่อนัยสำคัญ หรือกกต.วินิจฉัยว่าจำนวนดังกล่าวไม่มีผล. อาจจะไม่ดำเนินการใดๆ นายธนิศร์ ยังระบุด้วยว่าหลังเสร็จสิ้นงานประชามติ กกต.ก็จะเตรียมการในเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียง ส.ว. พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานกกต.ได้ทำการยกร่างไว้ส่วนหนึ่งแล้วคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมและสามารถส่งให้กรธ.ไม่เกินปลายเดือนนี้