“นักวิชาการ”ชม“การบินไทย-ก.พาณิชย์” เคร่งกม.ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เผย นานาชาติเริ่มคุมบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น เหตุอันตรายไม่ปลอดภัย ไม่ช่วยเลิกสูบ นำไปสู่การเสพยาเสพติดอื่นเพิ่ม ขณะที่สหรัฐฯ เจอเคสฟ้องร้อง สูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่มัธยม ทำเส้นเลือดในสมองแตก อัมพาตครึ่งตัว ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงกรณีข่าวการจับกุมดำเนินคดีพนักงานสายการบินไทย ลักลอบนำบุหรี่และไส้บุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทยว่า ขอกล่าวชื่นชมการทำงานของบมจ. การบินไทย ที่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และขอชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ ที่ยังคงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าไว้ เพราะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการคุ้มครองสุขภาพของคนไทย ทั้งนี้มองว่าป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไขซึ่งการควบคุมการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นไปตาม “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับพร้อมถูกริบสินค้า และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดนำเข้าของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้าในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ซึ่งในที่นี้คือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยกฎหมายศุลกากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน ห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ รพ.บาลรามาธิบดี ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้มีการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน ได้แก่ ประเทศบูรไน กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สิงคโปร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และในหลายประเทศของทวีปเอเชีย ก็ห้ามหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน เช่น อิหร่าน จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ศรีลังกา ไต้หวัน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศอิสราเอล ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อมีสารนิโคตินสูงถึง 59 mg/mL ซึ่งสูงกว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ 6-30 mg และเกินมาตรฐานของสหภาพยุโรปกำหนด “ขณะนี้ในหลายประเทศมีความพยายามที่จะออกกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ฮ่องกง อินเดีย เพราะหวั่นต่อการเสพติดของเยาวชนในประเทศ แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ได้มีการสำรวจพบว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กระดับมัธยมศึกษามากกว่าวัยอื่น และมีความชุกการใช้บุหรี่ไฟฟ้าคิดเป็น 20.8% เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.2 ล้านคน ในปี2560 เป็น 3.6 ล้านคน ภายในปี 2561 นอกจากนี้ 90% ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มต้นก่อนอายุ18 ปี ซึ่งส่งผลต่อการนำไปสู่การเสพยาเสพติดประเภทอื่น และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของเด็กวัยรุ่น” ศ.นพ.รณชัย กล่าว นอกจากนี้ยังพบอันตรายจากแบตเตอรี่ของบุหรี่ไฟฟ้าระเบิด การระคายเคืองจากการกลืน การหายใจ การสัมผัสที่ตาและผิวหนังตลอดจนปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดถึงความปลอดภัยของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ล่าสุดมีข่าวการฟ้องร้องที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เพราะสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่มัธยมจนเส้นเลือดในสมองแตก ร่างกายซีกซ้ายขยับไม่ได้ ดังนั้น การห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องปกติสมควร ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนานาประเทศก็มีการควบคุมไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น