ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ก่อนที่ เนลสัน แมนเดลา จะก้าวออกจากคุก เขาได้กล่าวอมตวาจาที่เป็นคติสอนใจได้อย่างลึกซึ้งดังนี้ “ในขณะที่ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่ประตูเพื่อออกไปสู่อิสรภาพ ข้าพเจ้าได้ตระหนักว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่ละทิ้งความเจ็บปวดรวดร้าว ความโกรธแค้น และความขมขื่นเอาไว้เบื้องหลัง ข้าพเจ้าก็คงยังอยู่ในคุก” แต่คุกที่ว่ามิได้หมายถึงคุกทางกายภาพ แต่มันเป็นคุกทางใจ ที่อยู่ภายในตัวเราเอง ภายใต้กำแพงของความโกรธ ความเกลียด ความขมขื่น การยึดติดกับความขมขื่นปวดร้าวไม่ได้ทำให้คุณเข้มแข็ง การให้อภัยไม่ได้ทำให้คุณอ่อนแอ แต่มันจะทำให้ใจของคุณเป็นอิสระ ดังนั้นจึงไม่ควรคุมขังตนเองไปตลอดชาติ คำพูดของเนลสัน แมนเดลา ว่าภายหลังที่ถูกจองจำอยู่ในคุกนานถึง 27 ปี เป็นสิ่งที่เผยให้เห็นจิตใจที่เปิดกว้างสู่ความจริงและอิสรภาพแห่งจิตใจที่สูงส่ง แม้เขาจะถูกจองจำอยู่นานเพียงใดแต่เขาก็พร้อมที่จะลืมความขมขื่นปวดร้าวของความอยุติธรรมที่เขาได้รับ ด้วยโทษทัณฑ์ที่เขาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่มีผิวสีต่างกัน แต่กลับมีการแบ่งแยกกีดกันเหยียดหยาม ทั้งๆที่มนุษย์คนนั้นมิได้ทำความผิดอะไรเลยเพียงแต่เขาเกิดมาผิวดำ เขาก็จะถูกกดขี่จากคนผิวขาวที่คิดว่าตนเองเหนือกว่า ทั้งๆที่คนขาวเหล่านั้นอาจมีพฤติกรรมที่เลวร้ายปราศจากความเมตตาปราณีเพื่อนมนุษย์ที่เกิดมามีผิวสี เนลสัน โรลีลาลา แมนเดลา เกิดวันที่ 18 กรกฎาคม 2461 นับถึงวันนี้เขาก็คงมีอายุถึง 100 ปีเศษไม่กี่วันแล้ว บทความนี้จึงมุ่งที่จะยกย่องเนลสัน แมนเดลา ในฐานะวีระบุรุษตัวจริงที่มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อความยุติธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศสหภาพอาฟริกาใต้ และกลายเป็นแบบอย่างของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของมนุษย์ในโลกนี้ ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน ต่างวรรณ ต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรม มนุษย์ชาติทั้งปวงล้วนมีความเสมอภาคกันถ้วนทั่วทุกตัวคน สมัยที่เนลสันยังเป็นเด็กหนุ่ม คนผิวขาวและผิวดำในอาฟริกาใต้จะต้องดำเนินชีวิตโดยแยกจากกันอย่างชัดเจนภายใต้นโยบายการแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ในยุคนั้นคนผิวขาว ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศอาฟริกาใต้เป็นผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศ และกำหนดกฎเกณฑ์ที่แบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ เช่น การออกกฎหมาย ห้ามคนผิวดำไปโรงเรียน โรงพยาบาล นั่งรถเมล์ หรือไปชายหาดเดียวกับคนผิวขาว และแน่นอนสถานที่เหล่านั้นย่อมมีสภาพที่ดีกว่าคนผิวดำอย่างฟ้ากับเหว คนผิวดำจะมิได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง เนลสันจึงดำเนินการต่อสู้โดยเข้าร่วมกับพรรคสมัชชาแห่งชาติอาฟริกา (ANC) และในเวลาต่อมาได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนพรรค ANC ซึ่งเป็นแกนนำในการประท้วงการแบ่งแยกผิว การชุมนุมประท้วงของสันนิบาตเยาวชนพรรค ANC ได้ใช้แนวทางอหิงสา หรืออารยะขัดขืนและออกเดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียมกัน แต่ถูกรัฐบาลผิวขาวปราบปรามอย่างรุนแรง จึงบานปลายกลายเป็นการจลาจล มีการเผาอาคารร้านค้า แต่ก็มีคนตายจำนวนไม่น้อย ซึ่งทั้งหมดหรือส่วนใหญ่คือคนผิวดำ ที่ทำการประท้วง ขบวนการเยาวชน ANC และพรรคจึงต้องลงต่อสู้ใต้ดิน และมีการก่อวินาศกรรมตามที่ต่างๆ จนถึงรัฐบาลตั้งข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย ในปี พ.ค.2507 เนลสัน แมนเดลา ถูกจับและพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และถูกนำไปขังในห้องแคบๆที่คุก ณ เกาะร็อบเบน นอกจากนี้ทางการยังสั่งห้ามเผยแพร่ภาพหรือคำพูดของเนลสัน ทั้งสิ้น แต่ก็มีการลักลอบเอาคำพูดของเนลสันมาเผยแพร่ในหมู่คนดำอยู่เนื่องๆ จนกลายเป็นแนวทางหรือการชี้นำการต่อสู้ของประชาชน ในขณะเดียวกันผู้รักความเป็นธรรม และนิยมหลักเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ อันเป็นแก่นแกนของลัทธิประชาธิปไตยในนานาประเทศก็ได้ จัดให้มีการรณรงค์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลา โดยมีการจัดคอนเสิร์ตแต่งเพลงและเดินขบวนในประเทศต่างๆให้กดดันรัฐบาลอาฟริกาใต้ จนถึงขั้นกดดันให้มีการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ และถอนการลงทุน โดยมีนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยระดับนำทั้งในสหรัฐฯและยุโรปเป็นแกนนำ ช่วงแรกๆรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี โบธา พยายามต่อรองกับเนลสัน ว่าจะปล่อยตัวเขาเป็นอิสระถ้าเขาสัญญาว่าจะยุติบทบาททางการเมือง และให้กลุ่ม ANC วางอาวุธ แต่ในอีกด้านรัฐบาลก็ไปเสี้ยมให้พรรคอิงคาทา ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวซูลู นักรบแห่งอาฟริกาใต้ที่มีฐานใหญ่อยู่ที่เมืองเดอร์บันให้โจมตีกองกำลังของ ANC และสัญญาว่าจะให้ปกครองเมืองเดอร์บันแบบออโตโนมี่ แต่ความเข้มแข็งและความเป็นปึกแผ่นของพรรค ANC ทำให้พรรคอิงคาทาไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุดประธานาธิบดีโบธาก็ป่วยเป็นมะเร็งเสียชีวิต จึงได้เปิดทางให้ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก ที่ทนต่อแรงกดดันไม่ไหวต้องสั่งปล่อยเนลสัน และประกาศให้พรรคการเมืองต่างๆรวมทั้ง ANC เป็นพรรคที่ถูกกฎหมาย เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในระยะต่อมา เนลสัน แมนเดลา ได้รับเลือกเป็นประธานพรรค ANC และชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ปี พ.ศ.2536 เนลสัน และ เดอ เคลิร์ก ได้รับรางวัลโนเบล แต่เนลสันประกาศยกเงินรางวัลให้แก่ประชาชนชาวอาฟริกาใต้ ปีพ.ศ.2537 เนลสัน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และ ประกาศว่าเขาจะเป็นเพียงสมัยเดียว ซึ่งเนลสันก็ได้แก้ไขกฎหมายเหยียดผิวทั้งหลายเพื่อสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในประเทศ และด้วยนโยบายที่ชาญฉลาดเนลสัน ดำเนินกุศโลบายหลายอย่างเพื่อสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ แม้แต่เรื่องกีฬา รักบี้ที่ผู้เล่นทั้งทีมเป็นคนผิวขาว เนลสันก็ให้การสนับสนุน จึงได้รับการยอมรับนับถือจากคนผิวขาวมากขึ้น และทำให้ประเทศมีความสมานฉันท์กันด้วยระบบความยุติธรรมที่ไม่มีการเลือกฝักฝ่าย เมี่อครบวาระเนลสันก็วางมือทางการเมือง และอุทิศตนให้กับงานเพื่อสาธารณะทั้งหลาย เนลสัน แมนเดลาว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 เมื่ออายุ 95 ปี และยังความเศร้าสลดใจจากผู้คนที่รักความยุติธรรมทั่วโลก ในงานศพของเขามีบุคคลสำคัญๆจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน แต่อุดมการณ์ของเนลสัน แมนเดอลา ยังคงอยู่ด้วยวลีที่ว่า “ข้าพเจ้าเชิดชู อุดมคติเรื่องสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพที่ซึ่งคนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติ ที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปให้ถึง เป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าพร้อมจะอุทิศชีวิตให้” ยังมีเรื่องราวอีกมากเกี่ยวกับเนลสัน แมนเดลา นักสู้ผู้อุทิศตนให้สังคมอย่างแท้จริง แม้ยอมติดคุกถึง 27 ปี ทุกวันนี้แม้อาฟริกาใต้ ยังมีปัญหาความยากจน อาชญากรรมสูง มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของอาฟริกาใต้ ถือว่ามีการสูญเสียน้อยมากโดยเปรียบเทียบกับการปฏิวัติในหลายประเทศ จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญว่า ถ้าชนชั้นนำเป็นผู้ยินยอมเสียสละนำการเปลี่ยนผ่านเสียเอง การเปลี่ยนผ่านก็จะมีการสูญเสียน้อย ถ้ายิ่งขัดยืนยิ่งปราบปรามเพื่อรักษาประโยชน์และความได้เปรียบแห่งตน ความรุนแรงจะยิ่งมีมาก