ปากกขนนก / สกุล บุณยทัต “ในโครงสร้างแห่งความหมายของชีวิต โลกได้สร้างมิติแห่งการรับรู้และตีความขึ้นมากมาย เป็นนัยที่บอกกล่าวถึงเจตจำนงด้านลึกแห่งผัสสะอันเกิดจากเบ้าหลอมอันจริงแท้ของประสบการณ์ชีวิต...นั่นจึงคือที่มาของสัมผัสรู้อันยอกย้อนที่ส่งผลกระทบต่อจิตปัญญาในความรู้สึกสารพันทั้งถูกและผิด บนพื้นฐานของอารมณ์และรากฐานของยุคสมัยที่ผูกร้อยและเกี่ยวกระหวัดความเป็นศรัทธาอันหนักเบาถึงกันอยู่ซ้ำๆ” “ประวัติศาสตร์ นัยประหวัด ศาสตร์ชีวิต นัยถูกผิด ชีวิตเปลี่ยนไปหลายหน นัยความเชื่อ นัยความรู้ แต่ละคน นัยศรัทธา พาก้าวพ้น พบลวง จริง” บริบทแห่งที่มาอันประกอบสร้างด้วยความหมายเชิงซ้อนของรวมบทกวีชุดใหม่ของ “กุดจี่”พรชัย แสนยะมูล”/ข้างต้นถือเป็นบทเรียนแห่งการรับรู้อันสำคัญ ต่อการเรียนรู้ถึงข้อตระหนักที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติของการก่อเกิด โดยเฉพาะกับแนวทางของความเชื่อมั่นอันหลากหลายของการมีชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความมาดหมายของวันนี้ โลกที่ถูกตอกตรึงด้วยค่านิยมของการถอดรื้อและสร้างเสริมค่าความหมายในรูปรอยใหม่ต่อสรรพสิ่งที่เวียนวนอยู่ตรงหน้า ท่ามกลางแก่นสารจากปัจจัยหลักของการเคลื่อนขยายและก้าวไปข้างหน้าอันซับซ้อน/ “กลางสงครามก้าวหน้าสมัยใหม่/ยุคเอไอไหลหลั่งยังสู้อยู่/กลางสงครามกลางเมืองไม่เฟื่องฟู/เศรษฐกิจฟองสบู่ สู้ดิ้นรน” “กุดจี่” สร้างสรรค์แก่นรากโดยรวมของบทกวีชุดนี้จากแรงบันดาลใจที่ได้จากหนังสือที่เขียนถึงความเป็นแก่นแท้ของมนุษยโลกต่อการสืบต่อการมีชีวิตอยู่ของพวกเขา... “เซเปี้ยน.”..ประวัติย่อของมนุษยชาติ (Sapiens:A Brief History Of Humankind)ผลงานเขียนที่มีคุณค่าต่อการส่งผลถึงการไขขานปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และในโลกยุคใหม่โดย”ยูวัล โนอารห์ แฮรารี่”(Yuval Noah Harari)นักประวัติศาสตร์ชาวยิว/หนังสือเรื่องนี้สื่อถึงเรื่องราวอันโลดโผนของประวัติศาสตร์ที่แสนพิเศษและนัยประหวัดต่อความเฉลียวฉลาดอันชวนเคลือบแคลงของมนุย์เรา... นับตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นวานรที่ไม่สลักสำคัญใดๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นเจ้าผู้ครอบครองโลกในที่สุด/ “ชีววิทยาปรากฏชัด/ซิมแปนซียังยืนหยัดยังพื้นที่/บรรพบุรุษ มนุษย์หิน ร้ายและดี/บ้างต่อยตี บ้างหลอมรวม ร่วมสายพันธุ์”/ “นีแอนเดอร์ธัลล์ ,โฮโมเซเปี้ยนส์ สร้างภาพเขียนในถ้ำ ย้ำภาพฝัน “วิวัฒนาการ” ผ่านหมอกควัน ต่างสร้างสรรค์”การปฏิวัติการรับรู้” “กุดจี่” แบ่งสาระเนื้อหาแห่งบทกวีทั้งหมดของเขาออกเป็นสามบทตอน ตามวิวัฒนาการแห่งยุคสมัยและธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปที่ถือเป็นหลักใหญ่อันประกอบด้วย.../บทตอนแห่ง “ประวัติศาสตร์ในบันทึกทางประวัติศาสตร์” /บทตอนแห่ง “ประวัติศาสตร์ในจินตนาการ” /และบทตอนแห่ง “ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์เฉพาะบุคคล” /ซึ่งในรูปรอยในแต่ละบทตอนนั้น “กุดจี่” ได้พยายามสื่อสารออกมาด้วยความจริงและความหมายผ่านสัมผัสรู้แห่งอารมณ์ร่วมทางวรรณศิลป์อย่างตั้งใจด้วยการตีความในประเด็นเรื่องราวเชิงเปรียบเทียบต่างๆผ่านสัญญาณภาษาในเชิงเปรียบเทียบทางวรรณศิลป์ที่ผุดพรายออกมาจากภาวะอันตื่นตระการของธารสำนึกในการหยั่งเห็นวิถีของโลกกว้างทั้งภายในและภายนอก/เป็นการทำงานสู่เนื้องานที่หวังถึงผลลัพธ์อันหนักแน่นต่อการรับรู้และตีความที่น่าสนใจยิ่ง.../ด้วยการชี้ให้เห็นว่า... “มนุษย์เราเอาชนะชิมแปนซี/ด้วยสมองที่มี –ใจที่แกร่ง/เมื่อสายลมโบราณผ่านเปลี่ยนแปลง/มนุษย์กล้าจึงท้าแข่งกลางทุ่งนั้น”/....และการณ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้น “กุดจี่” ได้สะท้อนบทกวีแห่งเรื่องเล่าของเขาผ่านการแปรเปลี่ยนและการกลายเป็นในนัยสำคัญที่อำนาจของมนุษย์ได้แผดกล้าขึ้นอย่างน่าสะพรึง ซึ่งนำมาสู่เหตุแห่งผลของการทำลายล้างนิเวศแห่งชีวิตจนต้องล้มตายและสิ้นค่าไปในท้ายที่สุด/ “เมื่อการก้าวกระโดดด้วยอำนาจ /ของมนุษยชาติประกาศก้อง/เกิดสงครามครั้งใหญ่เลือดไหลนอง/หายนะเข้าครอบครองเข้าคุกคาม” /นัยแห่งประวัติศาสตร์ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ตรงส่วนนี้สะท้อนภาพในภาพสะท้อนถึงโครงสร้างแห่งความเป็นไป ในวิถีประชาของยุคสมัยแห่งความเป็นจริงที่เหล่ามวลมนุษย์ได้สร้างขึ้นทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดอย่างเห็นแก่ตัวของตัวเองจนในที่สุดแล้วก็ต้องเผชิญหน้ากับการแบกรับชะตากรรมแห่งการเสียสมดุลชีวิตไปอย่างดิ้นไม่หลุด “ระบบนิเวศเสียสมดุล ระบบทุนนิยมยิ่งล้นหลาม ถืออำนาจบาตรใหญ่ ไฟสงคราม จะก้าวข้ามความรุนแรงได้อย่างไร” ประเด็นแห่งคำถามอันชวนทิ่มแทงใจนี้...โยงใยสู่โลกเปรียบเทียบทางจินตนาการซึ่ง “กุดจี่” ได้รับรู้ในรู้สึกของเขา..ผ่านการตอกย้ำถึงความจริงในด้านกลับซึ่งคล้ายดั่งเป็นหายนะแห่งยุคสมัยก็มิปาน..สิ่งที่บังเกิดขึ้นเหล่านี้แท้จริงหาใช่รากเหง้าแห่งประวัติศาสตร์แต่อย่างใดไม่...แต่มันคือนัยสำนึกอันยากจะควบคุมที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ตั้งอยู่เหนือการควบคุมใดๆ/ “ความตายไม่มีหมด/อนาคตไม่มีมา/ลิงหนึ่งฟื้นลืมตา/อนิจจา ตายแล้วฟื้น/....ข้างกายคือกองศพ/ข้างบนพบแร้งแตกตื่น/ลิงสาวต้องสะอื้น/ก่อนออกหนีเข้าถ้ำไป”/ แน่นอนว่าบางสิ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความฝันอันไม่รู้จบ...ความน่าสะพรึงทั้งหลายเติบโตขึ้นเป็นตัวแทนของความฝันที่สร้างวัฒนธรรมจำยอมในวิถีแห่งนัยประหวัดครั้งแล้วครั้งเล่า.../ “ในถ้ำลิงโดเดี่ยว/อยู่ตัวเดียวเปล่าเปลี่ยวใจ/ขีดเขียนข้างถ้ำไว้/วาดเรื่องในความฝันนั้น”/... “เขียนฝันเป็นรูปภาพ/ลิงซาบซึ้งเป็นหนักหนา/ไหนจริง ไหนลวงตา/ลิงอ่อนล้าสลบไป” ในวงกว้าง...มันยากนักที่เราจะเรียนรู้อะไรได้หมด เงื่อนไขแห่งนัยต่างๆของชีวิตนับวันก็มีแต่จะโถมทับและครอบงำเราจนสิ้นท่า/เหตุดั่งนี้ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์เฉพาะบุคคลจึงสถาปนาตัวตนแห่งตนขึ้นมาเพื่อยืนยันถึงสถานะที่เหมือนมีอยู่/แต่ก็รู้ตัวดีว่ามันไม่มั่นคงสักเท่าใดนัก/นี่คือนัยประหวัดถึงโลกแห่งความเป็นตัวตนที่แสนจะเปราะบางของวันนี้/... “ประวัติศาสตร์ในประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล/จะยากดีมีจนล้วนประจักษ์/นัย” ตัวกู ของกู “รู้ดีนัก/ชีวิตหนัก ชีวิตเบา เรารู้ตัว”/ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดของรวมบทกวีชุดนี้...คือการออกแบบรูปรอยทางความคิด...รวมทั้งการตีความนัยความหมายของอุบัติการณ์ที่ปรากฏต่อโลกต่างๆด้วยนัยแห่งความ “เฉลียวฉลาด” มันคือการกระทำอันซ้ำซ้อนในซ้ำซ้อนที่ “กุดจี่” ได้พยามสะท้อนนัยความหมายแห่งสาระเรื่องราวในมิติแง่มุมของชีวิตด้านลึกออกมา/ผ่านลีลาและน้ำคำของบทกวีในแต่ละบท แต่ละตอน/เป็นความพยายามในการแกะรอยแก่นแกนเชิงเนื้อหาเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมทางวรรณศิลป์/เป็นการคละเคล้าประสานสัมพันธ์ระหว่างความจริงกับความหมาย...ซึ่งถือเป็นเนื้องานแห่งการสร้างสรรค์ที่น่าชื่นชมยกย่อง/ในความเพียรพยายามสร้างสรรค์นัยแห่งประวัติแห่งมนุษยชาติให้ผสานกลมกลืนกลับนัยประหวัดอันหลากหลายใจความของยุคสมัยถือเป็นสิ่งที่ยากในการประกอบสร้างเชิงวรรณศิลป์โดยเฉพาะในนามของบทกวี ที่ต้องสื่อสารด้วยภาษาที่จับต้องได้ด้วยสัมผัสแห่งใจ/มีอยู่หลายบทตอนที่ “กุดจี่” ทำได้ดีต่อเงื่อนไขของใจความสำคัญต่างๆ/แต่ก็มีอยู่อีกหลายบทตอนที่มีการสะดุดล้มทางภาษา/มันตะกุกตะกัก/ลังเลในท่าที/และไม่ไหลลื่นสู่ห้วงของการรับรู้ได้อย่างที่หวัง/จุดอ่อนนี้แสดงถึงภาวะสมดุลระหว่างความละเอียดอ่อนทางวรรณศิลป์กับพลังแห่งประเด็นของแก่นรากทางวิชาการที่จริงจัง/อันยากยิ่งที่จะผสานกันได้อย่างกลืนกลายจนเป็นเนื้อเดียวได้โดยง่าย/หากแต่ว่า..เจตจำนงในการสร้างสรรค์ด้วยบริบททางความคิดและบรรยากาศทางอารมความรู้สึกเช่นนี้...กลับส่งผลให้ผลงานในลักษณะนี้น่าจับตาและชวนสัมผัสเพื่อการสืบค้นถึงรากฐานที่มาแห่งการประกอบสร้างต่างๆ..กระทั่งสิ้นสุดลงตรงจุดมุ่งหมายที่เป็นบทสะท้อนของโลกแห่งชีวิตในศาสตร์ของการรับรู้ที่แปลกตาและแปลกใจเช่นนี้/และนี่คือผลกระทบสูงสุดที่เราทุกคนจะได้รับผ่านรวมบทกวีเล่มหนึ่งที่อย่างน้อยก็จักทำให้เราได้พบในสิ่งที่สมควรต้องค้นพบในฐานะแห่งความเป็น “มนุษยชาติ” ที่แท้จริงร่วมกัน...ดั่งนี้... “พบความหวัง หวังร่วมกัน แม้ผิดหวัง ธรรมชาติอาจคลุ้มคลั่งเหนือบางสิ่ง “มนุษยชาติ” อาจหลอกลวง อาจช่วงชิง “มนุษยธรรม” สำคัญยิ่ง ไม่ทิ้งกัน”