แม้มิใช่ คนเปิดเกมส์ เขี่ยบอล แต่ก็เข้าสู่วงโคจรแห่งความขัดแย้ง ที่สถานการณ์ แรงร้อน จนมิอาจนอนใจกันไปได้ นั่นคือ สถานการณ์เผชิญหน้าในปัญหาพิพาทระหว่าง “อังกฤษ” กับ “อิหร่าน” ซึ่งสุ่มเสียงพร้อมที่จะประจัญบานให้แหลกลาญกันไปข้าง โดยเมื่อกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งข้างต้น ก็ต้องบอกว่า แรกเริ่มเดิมที ผู้ดีอังกฤษ ก็หาได้เป็นผู้ก่อเรื่อง ก่อราวไม่ แต่เป็นชาติพันธมิตร คู่หูดูโอของอังกฤษ อย่าง “สหรัฐอเมริกา” นั่นเอง ที่เป็นฝ่ายจุดเชื้อไฟแห่งความพิพาทปะทุคุโชนขึ้น เมื่อปรากฏว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่าน คือ “แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action: เจซีพีโอเอ)" หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า “พี 5 บวก 1” เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กับการรณรงค์ถอนตัวออกจากข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่าน ก็ไม่ผิดอะไรกับการจุดชนวนคชวามขัดแย้งที่ระหองระแหงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้กลายเป็นปัญหาพิพาทโดยทันที ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และอิหร่าน ได้วิวาทฟาดฝีปากลากเลยไปถึงการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรกันเป็นระยะๆ แถมมีเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันกันให้สะเทือนขวัญ กระทั่งถึงขั้นยิงโดรนระหว่างกันและกัน จนร่วงไปด้วยกันตลอดช่วงที่ผ่านมา พิพาทไม่พิพาทเปล่า แต่ทว่า ยังลากเอาชาติพันธมิตร ระดับ คอหอยกับลูกกระเดือกของสหรัฐฯ อย่าง “อังกฤษ” ร่วมวงไพบูลย์ของความขัดแย้งด้วย แบบพร้อมกอดคอเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับสหรัฐฯ กับวิกฤติพิพาทระหว่างประเทศหนนี้ เมื่อทางการอังกฤษ โดยกองเรือรบของกองทัพเรือที่ประจำอยู่ในย่าน “ช่องแคบยิบรอลตาร์” ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีปฏิบัติการยึดเรือ “เกรซวัน (Grace 1)” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ของอิหร่าน ณ บริเวณช่องแคบข้างต้น ด้วยข้อกล่าวหาว่า “เกรซวัน” กำลังลำเลียงขนส่งไปยังซีเรีย อันถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร แซงก์ชันทางเศรษฐกิจที่สหภาพยุโรป หรืออียู ได้ลงดาบ คาดโทษเอาไว้อยู่ เรือบรรทุกน้ำมัน “เกรซวัน” ถูกกองเรือตำรวจของอังกฤษ จับยึดที่ช่องแคบยิบรอลตาร์ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่งผลให้ทางการอิหร่าน ส่งเสียงตำหนิประณามต่อเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้น ก่อนที่ในเวลาต่อมา รัฐบาลเตหะราน ได้ “ปล่อยของ” ส่งเรือรบและเฮลิคอปเตอร์ของทางกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม ออกปฏิบัติการยึดเรือ “สเตนา อิมเพโร” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษ ที่กำลังแล่นอยู่ในบริเวณ “ช่องแคบฮอร์มุซ” ใกล้ชายฝั่งของอิหร่าน โดยหลายคนล้วนบอกตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า เป็นปฏิบัติการ “เอาคืน” จากอิหร่าน ที่มีต่ออังกฤษ ที่ได้ยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ไปก่อนหน้า ทั้งนี้ ทางการอังกฤษ เรียกสถานการณ์ข้างต้นนี้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นปรปักษ์ แต่ทางการอิหร่าน แก้ต่างต่อการกระทำของเรือรบ ที่สนธิกำลังกับเฮลิคอปเตอร์ทางอากาศ ในครั้งนี้ว่า เพราะเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษ กำลังแล่นในลักษณะที่จะเป็นอันตรายต่อเรือพลเรือนของอิหร่าน คือ เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านจะไปพุ่งชนเรือประมงของอิหร่านเข้าให้ จึงต้องดำเนินการส่งเรือลาดตระเวนเข้ามายึดเรือของอังกฤษไว้ ขณะที่ ทางการอังกฤษ ได้ตอบโต้ด้วยการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่ของอังกฤษกับอิหร่าน ซึ่งระบุว่า อิหร่านได้ยึดเรือบรรทุกน้ำมัน “สเตนา อิมเพโร” ในขณะที่เรือลำดังกล่าว แล่นอยู่ในเขตน่านน้ำสากล ที่ไม่ควรจะถูกขัดขวางใดๆ หรือยึดเรือไป นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างไร หรือใครจริง ใครเท็จ แต่ที่แน่ๆ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เหตุเผชิญหน้าที่บังเกิดระหว่างอังกฤษกับอิหร่าน ที่ต้องบอกว่า เป็น “วิกฤติเรือบรรทุกน้ำมันอิหร่าน (Iran Tanker Crisis)” ไปแล้วนั้น ก็จะกลาย “บททดสอบ” ด้าน “ความสามารถด้านการทูต” ของผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่” ที่จะมารับ “ตำแหน่ง” พร้อมๆ กับรับ “เผือกร้อน” ในเหตุพิพาทกับอิหร่านอย่างเสร็จสรรพ ว่าจะจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ให้ยุติลงอย่างสันติ ไม่เกิดสถานการณ์ของ “เสียงปืนแตก” หรือ “สงครามร้อน” ปะทุคุโชนขึ้นมา ตามที่หลายฝ่ายทั่วโลกปริวิตก ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับความคาดหมายว่าจะเข้ามา “บิ๊กบอส” หรือ “นายใหญ่” คนใหม่ แห่ง “บ้านเลขที่ 10 บนถนนดาวนิง ในกรุงลอนดอน คือ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ แทนนางเทเรซา เมย์ ที่กำลังจะโบกมือเพราะพิษเบร็กซิตไปนั้น ก็น่าจะเป็น “นายบอริส จอห์นสัน” ที่มีภาษีดีกว่าใครเขาเพื่อน โดยจะรู้ผลอย่างเป็นทางการ ก็อาจจะเป็นช่วงสิ้นเดือน ก.ค.ที่จะถึง เป็นได้รู้กัน นายบอริส จอห์นสัน ผู้ถูกคาดหมายว่า จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป