นักวิชาการ ระบุ ปีนี้น้ำไหลลงเขื่อนน้อย จากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศและภาครัฐคุมพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ ชาวนาไม่เชื่อฟัง เกิดปัญหาแย่งน้ำซ้ำซากทุกปี เมื่อวันที่ 23 ก.ค.62 ผศ.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่ไม่ได้วิกฤติที่สุดอย่างที่หลายฝ่ายกังวล จากสถิติรอบ 10 ปีพบว่า ในช่วงเวลาเดียวกันมีหลายปีที่น้ำในเขื่อนหลักน้อยกว่าปีนี้เช่น เขื่อนภูมิพลในปี 2553 2556 2557 2558 และ2559 ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ในปี 2556 2557 และ 2558 สำหรับปีนี้สาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อย และมีภาวะฝนน้อยตั้งแต่ต้นฤดู ยังทิ้งช่วงยาวนานเกิดจากความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ แต่ที่สำคัญภาครัฐควบคุมพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ ให้สมดุลกับแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ ถือเป็นปัญหาซ้ำซากแย่งใช้น้ำ โดยต้องแก้ปัญหาชัดเจนว่า ถ้าเกษตรกรฝืนเพาะปลูกเกินกว่าแผน แจ้งเตือนไม่ให้ทำนาต่อเนื่อง เมื่อชาวนาไม่ฟังยังทำนาต่อ จะไม่ระบายน้ำให้ หากได้รับความเสียหาย รัฐจะไม่ชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น "ปัญหาที่กรมชลประทานทำงานลำบากในช่วงฝนตกชุกเมื่อระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสูงขึ้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) ประชาชนได้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งต้องออกมาความเข้าใจว่าการที่ระดับน้ำสูงถึงทางระบายน้ำล้นเป็นสิ่งปกติของการเก็บกักน้ำในเขื่อน เขื่อนได้ออกแบบให้มีทางระบายน้ำล้นเพื่อเป็นช่องทางระบายน้ำออกไว้​อยู่แล้ว ไม่ใช่ น้ำล้นเขื่อนหรือเขื่อนจะแตก"ผศ.ณัฐ กล่าว ผศ.ณัฐ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปีนี้ที่ดูวิกฤติยังเป็นเพราะมีปัญหาระดับน้ำแม่น้ำโขงลดลงจากการเตรียมทดสอบเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนไซยะบุรีในลาว​ อีกทั้งจีนได้สร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงไว้หลายเขื่อนจึงส่งผลให้ระดับน้ำจังหวัดที่ติดลำน้ำโขงลดต่ำลงไปด้วย เมื่อดูจากแผนภูมิการขึ้นลงของลำน้ำโขงปีนี้ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมและอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายพบว่า ลดลงเป็นขั้นบันไดจากกักน้ำของเขื่อนต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาเช่นนี้ทุกปีจากนี้ไป ดังนั้นไทยต้องหาแนวทางรับสถานการณ์เช่น เขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดบานประตูระบายน้ำไว้ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ดังนั้นเมื่อน้ำโขงต่ำ ต้องลดบานประตู​ลง รวมทั้งแม่น้ำเลย ที่ไหลไปลงสู่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และแม่น้ำสงคราม ไหลลงสู่น้ำโขงที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ต้องทำเร่งด่วน สร้างประตูระบายน้ำบริเวณ​ปากแม่น้ำ ปิดเปิดบานระบายให้สมดุล เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในประเทศ