อธิบดีกรมชลประทาน ชงแผนเร่งด่วน เสนอนายกฯ แก้ภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง ระบุยังไม่แล้งวิกฤติ ยันปีนี้ทั่วประเทศ มีน้ำต้นทุนมากกว่าปี58 ที่เป็นปีน้ำสองเขื่อนใหญ่วิกฤตน้อยสุดของไทย ถึง 2 พันล้านลบ.ม. ชี้ลุ่มเจ้าพระยา ใช้น้ำเกินแผน 1.5 พันล้านลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูกขยายมากกว่าแผน 1.2 ล้านไร่ ด้านสนน.เตือนน้ำ 19 เขื่อนใหญ่น้อยวิกฤติ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ ดึงน้ำก้นเขื่อนมาใช้แล้ว 16 ล้านลบ.ม. เมื่อวันที่ 23 ก.ค.62 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2562 โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานและมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและเสนอมาตรการแก้ไข ป้องกัน ผลกระทบต่อประชาชนในภาวะวิกฤติช่วงฤดูแล้งนั้น นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานร่วมกับผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสนอผลวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนซึ่งทบทวนใหม่จากสถานการณ์ปัจจุบันและการพยากรณ์อากาศระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคม 2562 เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำต้นฤดูแล้ง ประจำปี 2562/2563 และปรับแผนการจัดสรรน้ำในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำปัจจุบันพบว่า มีปริมาตรน้ำรวม 38,665 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างทั้งหมด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9,183 ล้าน ลบ.ม. (34%) ภาคกลาง 508 ล้าน ลบ.ม.(20%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,246 ล้าน ลบ.ม.(33%) ภาคตะวันตก 18,284 ล้าน ลบ.ม.(68%) ภาคตะวันออก 1,120 ล้านลบ.ม. (36%) ภาคใต้ 5,323 ล้านลบ.ม. (58%) และศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้าน ลบ.ม.ต่อเดือน โดยมีน้ำต้นทุนทั่วประเทศมากกว่าปี 2558 ซี่งเป็นปีน้ำสองเขื่อนใหญ่วิกฤติที่สุดของประเทศ (เขื่อนภูมิพล เหลือน้ำระบายได้เพียง 123 ล้านลบ.ม. หรือ 1.28% และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำ 280 ล้านลบ.ม.หรือ 4.21%) โดยปีนี้ยังมีน้ำมากกว่าปริมาณ 2,293 ล้าน ลบ.ม. หรือ 7% แต่มีน้ำน้อยกว่าปี 2561 ปริมาณ 11,904 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25% มีอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังสูงสุดได้แก่ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 19 แห่งและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 151 แห่ง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า การที่ปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยแม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝนแล้ว มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ปริมาณฝนตกช่วงฤดูฝนปี’61 ตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 10%–17% การเพาะปลูกในฤดูแล้งปี 61/62 เกินแผน โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินกว่าแผนถึง 1.2 ล้านไร่ทำให้ต้องจัดสรรน้ำมากกว่าแผน 1,528 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% และฝนตกจริงน้อยกว่าการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ประมาณ 30%-40% ในภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำให้พื้นที่การเกษตรเกินกว่าที่กำหนดไว้ สำหรับมาตรการรับภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ต้นฤดูฝนนั้นได้ทบทวนปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงการสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายไว้ล่วงหน้าเพื่อออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ฝนตกน้อยและอาจมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน 83 อำเภอ 20 จังหวัดแบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35 อำเภอ 10 จังหวัดภาคใต้ 27 อำเภอ 8 จังหวัด ภาคเหนือ 18 อำเภอ 6 จังหวัด และภาคตะวันตก 3 อำเภอ 1 จังหวัด ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณามาตรการรับมือภัยแล้งในช่วงฤดูฝนทั้งมาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวที่เพิ่มความเคร่งครัดมากขึ้นเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน ด้านเวปไซส์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สนน.) แจ้งเตือน 19เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำใช้การน้อยวิกฤต (%ใช้การฯ) : เขื่อนอุบลรัตน์ (-1%),เขื่อนสิรินธร (2%),เขื่อนจุฬาภรณ์ (3%),เขื่อนป่าสักฯ (4%),เขื่อนสิริกิติ์ (5%),เขื่อนภูมิพล (6%),เขื่อนคลองสียัด (6%),เขื่อนแควน้อย (10%),เขื่อนกระเสียว (10%),เขื่อนแม่กวง (11%),เขื่อนทับเสลา (13%),เขื่อนน้ำพุง (14%),เขื่อนขุนด่านปราการชล (14%),เขื่อนลำพระเพลิง (14%),เขื่อนนฤบดินทรจินดา (16%),เขื่อนวชิราลงกรณ (17%),เขื่อนห้วยหลวง (17%),เขื่อนศรีนครินทร์ (18%),เขื่อนลำปาว (19%) ในส่วนเขื่อนลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้การน้อยวิกฤติ รวม 1,369 ล้านลบ.ม. ระบายวันละ 47.76 ล้านลบ.ม. เช่น เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้จริง 777 ล้านลบ.ม. ระบายวันละ 25 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 455 ล้านลบ.ม. ระบาย 20.15 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 91 ล้านลบ.ม. ระบาย 1.91 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 40 ล้านลบ.ม. ระบาย 7 แสนลบ.ม. สำหรับปริมาณน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ ติดลบ 16 ล้านลบ.ม. ระบาย 5 แสนลบ.ม. เขื่อนสิริธร 34 ล้านลบ.ม. ระบาย 9 แสนลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ 6 ล้านลบ.ม. ระบาย 5 แสนลบ.ม. เขื่อนคลองสียัด 25 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 1 แสนลบ.ม. เขื่อนกระเสียว 29 ล้านลบ.ม. ระบาย 5 หมื่นลบ.ม. เขื่อนแม่กวง 50 ล้านลบ.ม. ระบาย 5.8 แสนลบ.ม. เขื่อนทับเสลา 21 ล้านลบ.ม. ระบาย 8 หมื่นลบ.ม. เขื่อนน้ำพุง 24 ล้านลบ.ม. งดการระบาย เขื่อนขุนด่าน 31 ล้านลบ.ม. ระบาย 1 แสนลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง 22 ล้านลบ.ม. งดการระบาย เขื่อนนฤบดินทรจินดา 46 ล้านลบ.ม. งดการระบาย เขื่อนวชิราลงกรณ 1,490 ล้านลบ.ม. ระบาย 10.92 ล้านลบ.ม. เขื่อนห้วยหลวง 23 ล้านลบ.ม. ระบาย 1.6 แสนลบ.ม. เขื่อนศรีนรินทร์ 3,277 ล้านลบ.ม. ระบาย 14.01 ล้านลบ.ม. เขื่อนลำปาว 384 ล้านลบ.ม. ระบาย 5.07 ล้านลบ.ม.