“ประภัตร" สั่ง กรมชลฯ เร่งปรับเพิ่มระบายน้ำเขื่อนภูมิพล จาก 23 ล้านลบ.ม.เป็น 25 ล้านลบ.ม.และเขื่อนสิริกิติ์ เพิ่ม 19 เป็น 20 ล้านลบ.ม. พร้อมหยุดสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ตลอดแนวลุ่มน้ำปิง-น่าน กว่า 400 แห่ง กระแทกน้ำผันช่วยลุ่มเจ้าพระยา วันละ 25 ล้านลบ.ม.ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 25 ก.ค.นี้ชี้ปริมาณน้ำเขื่อนเจ้าพระยาวิกฤติ สถานการณ์อันตราย น้ำต่ำสุดไม่ไหลเข้าระบบชลประทาน นาข้าวเสี่ยงเสียหายกว่า 17 ล้านไร่ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.62 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งภาคอีสาน เริ่มมีสัญญาณคลี่คลายโดยเมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) มีฝนตกมากพอสมควร ในพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุรินทร์ ซี่งเป็นแหล่งใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ มีฝนตกมาช่วยนาข้าวให้รอดได้ เป็นฝนจากความกดอากาศต่ำ ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยฝนจะมาปลายเดือนนี้ และต้นเดือนหน้า เข้าหน้าฝนปกติ ทั้งนี้ ได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ทุกจังหวัดลงพื้นที่ออกไปสำรวจความเสียหาย ลงไปพบชาวนา เกษตรกร ไม่ต้องใช้วิธีแบบเดิมนั่งรอชาวนามามาแจ้ง เพราะปัจจุบันมีระบบออนไลน์ทั่วประเทศ พร้อมถ่ายภาพพื้นที่จริงประกอบมาด้วย ทำมาทั้งหมดตัวเลขเสียหาย กี่ชนิด อะไรบ้าง ชนิดไหน รัฐบาลจะได้ช่วยตรงจุด ถ้าเกษตรกรยังไม่ขึ้นทะเบียน ก็รับขึ้นทะเบียนในพื้นที่ได้เลย ซึ่งจะต้องทำงานเชิงรุก เข้าถึงทุกพื้นที่ว่ามีพื้นที่เกษตรเท่าไหร่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงเท่าไหร่ เอาของจริงมา อย่านั่งเทียนเขียนส่งมา นอกจากนี้ ยังมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เปิดศูนย์ภัยแล้ง ซึ่งจะทำงานร่วมกัน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯกระทรวงทรัพย์ฯช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้มีแหล่งน้ำเลี้ยงพื้นที่การเกษตรให้ได้ผลผลิต โดยพื้นที่ใดสามารถเจาะบ่อน้ำบาดาล บ่อตอก ได้ให้ดำเนินการทันที ซึ่งตนสั่งกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ กระทรวงทรัพย์ มีแผนที่และทีมสำรวจพื้นที่บริเวณใดที่จะมีน้ำบาดมีน้ำตรงไหน มีรถขุดเจาะเคลื่อนที่สามารถเข้าไปดำเนินได้โดยด่วนจะแก้ไขปัญหาขาดน้ำได้ทั้งน้ำบริโภคและน้ำการเกษตร ปัญหาเร่งด่วนลุ่มเจ้าพระยา ในเวลานี้ต้องเร่งจัดหาน้ำให้ส่งให้นาข้าว กว่า17ล้านไร่ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขต กำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงซึ่งเก็บเกี่ยวได้ช่วงกลางเดือนส.ค. ทั้งนี้ปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า จะมีฝนมาจากที่กรมอุตุฯคาดว่าช่วงวันที่10ส.ค.ประเทศไทยฤดูฝนจะเข้าสู่ปกติ จึงเร่งปรับเพิ่มระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากแผนเดิมจะลดระบายน้ำเขื่อนภูมิพล ลงจากวันละ23ล้านลบ.ม.เหลือ20 ล้านลบ.ม.เขื่อนสิริกิต์ ลดจากวันละ20ล้านลบ.ม.เหลือ 19ล้านลบ.ม.เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อน แต่สถานการณ์ทำไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับต่ำมาก น้ำไม่เข้าระบบชลประทาน กระทบพื้นที่เกษตรอาจเสียหายมากขึ้น สถานการณ์ขณะนี้อันตรายมาก มีปริมาณน้ำระบายหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพียง14.3เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.)ส่งผลเกิดปัญหาน้ำไม่ไหลไปเข้าระบบชลประทาน เช่น คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ความยาว104 กม.จึงไม่มีน้ำส่งให้พื้นที่เกษตรหลายแสนไร่ น้ำไม่พอแบ่งให้กับ 24คลอง ได้มีปัญหาทะเลาะแย่งน้ำกันตลอด ผมรู้ปัญหาพื้นที่นี้กว่าใคร เป็นเรื่องเรื้อรังหนักขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ที่ฝนทิ้งช่วง ได้ให้ทุกฝ่ายลงทำความเข้าใจ ผู้ว่าฯลงมาช่วยกัน ให้กรมชลประทาน สั่งเพิ่มกระแทกน้ำมาจากเขื่อนภูมิพล ปรับเพิ่มการระบายน้ำวันละ 25ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ เพิ่ม20ล้านลบ.ม. โดยน้ำออกเดินทางเย็นวันที่21 ก.ค. และให้ผู้ว่าราชการ สั่งหยุดสถานีสูบน้ำไฟฟ้ากว่า400แห่ง ตลอดแนวลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน หยุดสูบน้ำ 3วัน คาดว่าปริมาณน้ำก้อนนี้มาถึง เขื่อนเจ้าพระยาวันที่ 25ก.ค.นี้ เพื่อมาช่วยเลี้ยงนาข้าวกว่า17ล้านไร่ ถ้าน้ำก้อนนี้ไม่พออาจมีการปรับระบายเพิ่มอีกรอบ จนถึงได้เก็บเกี่ยวช่วงกลางเดือนส.ค.อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำ4เขื่อนใหญ่ ลุ่มเจ้าพระยา เช่นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักฯล่าสุดมีน้ำใช้การได้ 1.3พันล้านลบ.ม.จะเพียงพอสำหรับอุปโภค บริโภค แน่นอน ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก แต่จะต้องจัดสรรปันส่วนกันกับน้ำเพื่อการเกษตรให้รอบครอบ เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดไม่เดือดร้อนทุกฝ่ายได้ใช้น้ำผ่านพ้นวิกฤติไปได้จนเข้าฤดูฝนปกติ “ได้หารือกับทุกหน่วยงานแล้วและให้อธิบดีกรมชลประทาน เพิ่มปล่อยน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เพิ่มเป็น25และ20ล้านลบ.ม. โดยเรียกว่าการกระแทกน้ำ พร้อมกับให้ผู้ว่าราชจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สั่งหยุดสถานีสูบน้ำไฟฟ้า3วัน ตลอดแนวลุ่มน้ำแม่ปิง แม่น้ำวัง กว่า400สถานี เพื่อให้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำ ปิง แม่น้ำน่าน ไหลมารวมแถวจ.นครสวรรค์ พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำจากภูมิพล สิริกิติ์ ยกระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จากปัจจุบันสถานการณ์แย่มากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระดับ 14.3 เมตร โดยจากนี้มีน้ำจากจ.นครสวรรค์300คิว ต่อวินาที หรือ วันละ25ล้านลบ.ม.จะยกระดับน้ำหน้าเขื่อนขึ้นมา 15-15.2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(รทก.)ปริมาณน้ำถึงวันที่ 25 ส.ค.นี้“นายประภัตร กล่าว