นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กในหัวข้อ "จะใช้บัตรคนจนอุดหนุนก๊าซ LPG? อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่" ความว่า...
“จะใช้บัตรคนจนอุดหนุนก๊าซLPG? อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่!” ไม่น่าเชื่อ ในข่าวข้างล่าง รมว.พลังงานคนใหม่ เล็งจะป้อนขนมให้นายทุนพลังงาน แบบคำใหญ่กว่าคนเดิมเสียอีก “โดยจะใช้กลไกของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้ในการซื้อพลังงาน ที่ขณะนี้ใช้ซื้อส่วนลดราคาแอลพีจีครัวเรือน 45 บาทต่อ 3 เดือน นั้น จะปรับเงื่อนไขอย่างไรให้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง” ข้อเสนอนี้ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่! รมว.คนเดิม ป้อนขนมคำใหญ่ เข้าปากนายทุนพลังงานไปแล้วคำหนึ่ง โดยยกเลิกเพดานราคาก๊าซLPGสำหรับครัวเรือน (ที่มีต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล) เปลี่ยนไปอิงราคาตลาดโลกที่ซาอุดิอะราเบีย ราคาปลีกLPGที่พุ่งขึ้น ทำให้เงินไหลออกจากกระเป๋าประชาชนทันที ไหลไปเข้ากระเป๋านายทุนพลังงาน โดยตัวเลขของหม่อมกร บริษัทพลังงานซึ่งผูกขาดก๊าซจากอ่าวไทย มีกำไรเพิ่มมากถึง 4 หมื่นล้านบาท เป็นการเฉือนเนื้อประชาชน ไปให้นายทุน เห็นๆ แต่เมื่อประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลลุง(1)ก็กังวลจะเสียคะแนน จึงชดเชยราคาLPGด้วยการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน สรุปแล้ว บันไดขั้นที่หนึ่ง บีบให้เงินไหลจากครัวเรือน ไปเข้ากระเป๋านายทุนพลังงาน บันไดขั้นที่สอง บีบให้เงินไหลจากผู้ใช้รถยนต์ ไปเข้ากระเป๋าครัวเรือน แต่การบีบเงินจากผู้ใช้รถยนต์ ไปเข้ากระเป๋าครัวเรือนนั้น จะทำต่อไปได้ไม่นาน เพราะผู้ใช้รถยนต์ จนลงทุกวัน กำลังซื้อตกต่ำไปเรื่อย บัดนี้ นายทุนพลังงานได้คิดวิธีแก้ลำได้แล้ว ก็คือใช้งบประมาณของประเทศ อัดเงินเข้าไปในบัตรคนจน เพื่ออุดหนุนราคาLPGนั่นเอง วิธีนี้ สามารถเลิกเก็บเงินจากผู้ใช้รถยนต์ได้ โดยเปลี่ยนเป็นใช้เงินของประชาชนทั้งประเทศแทน(ไม่ว่าใช้รถยนต์หรือไม่) เพื่อโป๊วให้ครัวเรือน สรุปแล้ว บันไดขั้นที่สาม บีบให้เงินไหลจากประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ ไปเข้ากระเป๋าครัวเรือน เพื่อคืนกำลังซื้อกลับไปให้ผู้ใช้รถยนต์ ถามว่า ถ้าหากสมมติว่า รมว.พลังงานเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เขาจะต้องทำอย่างไร? เขาจะต้องนำเพดานLPGกลับมาใช้บังคับทันที เพื่อบีบเงินให้ไหลกลับ ออกจากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ กลับไปเข้ากระเป๋าครัวเรือนโดยตรงเช่นเดิม แต่แน่นอนว่า กำไรที่เพิ่ม 4 หมื่นล้านบาทก็จะหดไป ดูแล้ว รัฐบาลลุง(2)น่าจะเน้นรับใช้นายทุนไม่ต่างจากรัฐบาลลุง(1) [มีคนท้วงว่า ก๊าซในไทยไม่พอใช้ ต้องนำเข้า จึงอ้างเป็นเหตุผลที่ต้องอิงราคาตลาดโลก แต่ในข้อเท็จจริง ปริมาณก๊าซที่ครัวเรือนใช้ ก็พอๆกับที่ผลิตได้จากอ่าวไทย และเนื่องจากก๊าซในอ่าวไทยเป็นของประชาชน การที่รัฐบาลให้สิทธิครัวเรือนใช้ก๊าซราคาถูก จึงเป็นมาตรการที่เหมาะสม ส่วนก๊าซที่นำเข้า เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับธุรกิจปิโตรเคมีนั้น เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีกำไรดี ก็ควรจะต้องรับภาระราคาตลาดโลกเอง]