เพลงภาษา คือ เพลงไทยเดิมประเภทหนึ่ง ที่มีชื่อขึ้นต้นเพลงเป็นชื่อชาติต่างๆ โดยบทเพลงนั้นจะเลียนแบบทำนองเพลงและสำเนียงเพลงของชาตินั้นๆ อาทิ เพลงจีนใจ๋ยอ เพลงลาวชมดง มอญดูดาว ญี่ปุ่นฉอ้อน พม่ากำชับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีเพลงภาษาอยู่ชุดหนึ่ง ที่นำเอาเพลงสำเนียงภาษาหลายเพลงมาบรรเลงต่อเนื่องกัน ซึ่งนอกจากจะใช้สำเนียง หรือทำนองเพลงของชาติเหล่านั้นแล้ว ยังใส่บทขับร้องภาษาเหล่านั้นลงในบทเพลง เพื่อให้เพลงมีความชัดเจนของชาติเหล่านั้นยิ่งขึ้น โดยเรียกเพลงชนิดนี้ว่า เพลงสิบสองภาษา หรือ เพลงออกภาษา เพลงสิบสองภาษา หรือ เพลงออกภาษา ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับอิทธิพลจากการสวดคฤหัสถ์ในงานศพ แต่เดิมครูเพลงได้กำหนดแบบแผนไว้ว่าจะต้องบรรเลงต่อท้ายเพลงนางหงส์ในงานศพ บรรเลงติดต่อกันเป็นชุด โดยเริ่มจากเพลงสำเนียงไทยแล้วตามด้วยสำเนียงลาว เขมร มอญ พม่าไปเรื่อย ๆ จนถึงฝรั่งเป็นชาติสุดท้าย ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง เป็นอันจบกระบวนการบรรเลงเพลงสิบสองภาษาที่ครบถ้วน ต่อมาจึงมีการปรับปรุงทำนอง และการบรรเลงไม่จำเป็นต้องบรรเลงครบทั้งสิบสองเพลง รวมทั้งเริ่มมีการแสดงจำอวดหรือตลก ประกอบการบรรเลงเพลง นอกจากนี้ ยังมีการแสดงนาฏศิลป์ไทย โดยนักแสดงแต่งกายและร่ายรำ แสดงท่าทางตามบทเพลงที่มีท่วงทำนองของชาตินั้น เพื่อเพิ่มอรรถรสและสร้างความบันเทิงในการรับชม ในปัจจุบันการบรรเลงเพลงสิบสองภาษา และการออกตัวแสดงประกอบเพลงนั้นหาชมได้ยากมีเพียงสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ที่จัดการแสดงในโอกาสพิเศษเท่านั้น ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จัดรายการสังคีตสราญรมย์ ครั้งที่ 163 พบกับการแสดงในชื่อชุด“นาฏลีลาภาษาเพลง” นำเสนอการบรรเลงเพลง 12 ภาษาประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทย นำแสดงโดย อาจารย์กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ นาฏศิลปิน กรมศิลปากร ในวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลา 16.00 – 18.00 น. ณ สถาบันคึกฤทธิ์ ซอยสาทร 1 ถนนสาทร สอบถามรายเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ 0 2230 2062 0 2626 3351-2 รับชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย