อย่าเห็นเป็นเพียงวัตถุเล็กๆ เม็ดอณูใหญ่กว่าฝุ่นผงนิดเดียว แต่ก็ต้องบอกว่า มีฤทธิ์ร้ายเหลือ แบบเข้าทำนอง “เล็กพริกขี้หนู” เลยทีเดียว สำหรับ “ทราย” วัสดุจำพวก “สสารแบบเม็ด” ซึ่งเกิดจากหินที่ถูกย่อยจนเป็นเม็ดละเอียด โดยคุณประโยชน์ของมัน นอกจากใช้ผสมปูนซีเมนต์ เพื่อการก่อสร้างแล้ว ก็ยังใช้ “ถมที่” ให้พื้นที่สูงขึ้น และขยายพื้นที่ให้กว้างขวางออกไปได้ด้วย อุตสาหกรรมการขุดทรายทะเล ดังเช่น “ประเทศสิงคโปร์” ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ และมีขนาดเล็ก ซึ่งถ้าว่าตามสถิติตัวเลข ก็ต้องถือว่า เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือถ้าเปรียบเทียบกับเกาะภูเก็ตของไทยเรา สิงคโปร์ก็มีขนาดใหญ่กว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ 718.3 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ เกาะภูเก็ตมีขนาด 543.034 ตารางกิโลเมตร ด้วยความที่เป็นเกาะขนาดเล็ก พื้นที่มีจำนวนจำกัดเยี่ยงนี้ ทางการสิงคโปร์ จึงใช้ “ทราย” โดยเพาะอย่างยิ่ง ทรายทะเล (Sea Sand) เป็นวัตถุสำหรับถมทะเล เพื่อขยายพื้นที่ของประเทศ ทั้งนี้ การใช้ทรายทะเล มาถมทะเลน่านน้ำของตนข้างต้น ก็เป็นไปตามโครงการของ “นโยบายปรับปรุงที่ดินเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ (Land Reclamation)” ของทางการสิงคโปร์ การถมทะเลในโครงการปรับปรุงพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้ของสิงคโปร์ ผลพวงจากการดำเนินนโยบายที่ว่า ก็ทำให้สิงคโปร์ กลายเป็นประเทศที่มีแผ่นดินงอกในทะเลมากที่สุดในโลก ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่มีจำนวนรวมแล้วหลายสิบตาราง เอาเฉพาะในปีที่แล้ว คือ 2561 สิงคโปร์ก็มีแผ่นดินงอกถึง 2.7 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาข้างต้น โดยแหล่งที่มาของ “ทรายทะเล” ที่สิงคโปร์ นำมาใช้ถมขยายพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็มาจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกัน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม หมายความว่า สิงคโปร์ สั่งซื้อนำเข้า “ทรายทะเล” จากบรรดาประเทศเหล่านี้ มาถมทะเล เพื่อขยายอาณาบริเวณ เขตแดนประเทศของตน นั่นเอง การทำเหมืองทรายทะเลที่อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม กิจกรรมส่งออก-นำเข้า “ทรายทะเล” ระหว่าง “สิงคโปร์” กับประเทศเหล่านี้ ก็มีขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่อง “การทำลายสิ่งแวดล้อม” ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ยิ่งในยุคที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญและตระหนักเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” หรือ “สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” ก็ยิ่งส่งเสียงวิจารณ์หนัก ทั้งต่อ “สิงคโปร์” ชาติร่ำรวยผู้นำเข้าทรายทะเล และต่อบรรดาชาติที่ขุดทรายจากทะเลไปขาย ด้วยความหวั่นวิตกว่า ปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี จากผลพวงพิษภัยของภาวะโลกร้อน เพราะถูกวิจารณ์อย่างหนัก ก็ส่งผลให้ที่ผ่านมา หลายประเทศที่ส่งออกทรายทะเลไปให้สิงคโปร์ เริ่มชะงักงันกันไปบ้างเหมือนกัน อย่าง “อินโดนีเซีย” เมื่อช่วงปี 2550 (ค.ศ. 2007) ทางการจาการ์ตา ก็ได้มีคำสั่งห้ามส่งออกทรายทะเล ไปจำหน่ายให้แก่สิงคโปร์ โดยหยิบยกเรื่อง “วิกฤติทราย (Sand Crisis” ในสิ่งแวดล้อมทางทะเล บริเวณนอกชายฝั่งของประเทศ ขึ้นมาเป็นเหตุผลของคำสั่งห้ามส่งออกข้างต้น พร้อมระบุว่า การขุดทรายทะเลขึ้นมาเป็นจำนวนมากๆ ตลอดหลายปีเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลท การทำประมงของเกษตรประมงในอินโดนีเซีย รวมถึงการเปิดปัญหามลภาวะทางทะเลของประเทศ จนทางการจาการ์ตา ถูกวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบจากบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเวทีโลกอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ทางการสิงคโปร์ ของนายกรัฐมนตรีลี เซียลุง ไม่เชื่อในเหตุผลดังกล่าว โดยระบุว่า เพราะทางการอินโดนีเซีย ใช้คำสั่งห้ามส่งออกทรายข้างต้น มาเป็นอาวุธตอบโต้ต่อกรณีที่อินโดนีเซียมีปัญหากับสิงคโปร์หลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และเรื่องการปักปันเส้นเขตแดน ล่าสุด ทางการมาเลเซีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “มหาธีร์ โมฮาหมัด” ได้มีคำสั่งห้ามส่งออกทรายทะเลไปให้สิงคโปร์อย่างเด็ดขาด อุตสาหกรรมขุดทรายทะเลในมาเลเซีย ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงมาเลเซียแล้ว ต้องถือว่า เป็นผู้ส่งออกทรายทะเลรายใหญ่ให้แก่สิงคโปร์ โดยตามตัวเลขการค้าขาย ก็ระบุว่า ในช่วงปีที่แล้ว คือ 2561 สิงคโปร์นำเข้าทรายจากมาเลเซีย ถึง 59 ล้านตัน มูลค่าคิดเป็นตัวเงินอยู่ที่ 347 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแม้เป็นตัวเงินที่ไม่มาก แต่การคำสั่งห้ามที่มีขึ้น ก็สร้างความสะกิดใจให้แก่ทางการสิงคโปร์ไม่น้อยว่า รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ ของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ จะมีวาระซ่อนเร้นใช้ การห้ามส่งออกทรายทะเล เป็นอาวุธในการสัประยุทธ์ แบบทำสงครามทรายกับสิงคโปร์ก็ไม่ผิด แม้ว่าทางการมาเลเซีย โดย ดร.ซาเวียร์ จายากุมาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำ แผ่นดิน และทรัพยากรธรรมชาติ จะออกมาบอกเหตุผลการห้ามส่งออกครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องความวิตกกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เฉกเช่นอินโดนีเซียก็ตาม