อธิบดีกรมชลฯ สั่งสูบน้ำเข้าสู่ระบบของการประปาบุรีรัมย์ เร่งขุดเจาะบ่อบาดาล ส่วนพื้นที่เกษตรท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ได้นำน้ำสำรองส่งให้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกไปแล้วกว่า 160,000 ไร่ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.62 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในเขตจังหวัดบุรีรัมย์เนื่องจากฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 รายงานว่า ขณะนี้กำลังขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวสูบประปาและสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดมายังบริเวณจุดสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคให้ได้มากที่สุด พร้อมกับจัดหาแหล่งน้ำใกล้เคียงเพื่อเพิ่มต้นทุนปริมาณน้ำดิบในการผลิตประปาเช่น ผันน้ำจากเหมืองหินเก่าไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดซึ่งห่างกัน 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันไปยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) อย่างต่อเนื่อง โดยส่งน้ำได้ประมาณวันละ 65,000 ลบ.ม. รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาน้ำบาดาล พิจารณาเจาะและติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกันกับน้ำผิวดิน สำหรับมาตรการระยะกลาง จะร่วมกับกรมการทหารช่างขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด รวมทั้งขุดลอกเพื่อเพิ่มความจุน้ำบริเวณหน้าฝายสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ และก่อสร้างแนวผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปะเทียไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดซึ่งอยู่ในแผนงานก่อสร้างปี 2562-2563 แล้ว ส่วนมาตรการในระยะยาว ได้ประสานกับการประปาส่วนภูมิภาคให้พิจารณาตั้งสถานีผลิตน้ำประปาบริเวณอำเภอโนนดินแดง โดยใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำนางรอง เพื่อเสริมความมั่นคงด้านการประปาเพื่อส่งให้กับพื้นที่อำเภอโนนดินแดง ประคำ นางรอง และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ด้วย สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์อยู่ในเกณฑ์น้อย ในขณะที่ยังคงต้องส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆลดลงเรื่อยๆ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยาวนานที่สุด ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำ 568 ล้าน ลบ. ม. โดยมีปริมาณน้ำใช้การ 0% แต่เพื่อช่วยเหลือประชาชนจึงได้สั่งการให้นำน้ำสำรองมาใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคแล้วประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรกว่า 160,000 ไร่ ในอำเภอ​น้ำพอง​ จังหวัด​ขอนแก่น​เขต​ โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายจะส่งน้ำจากฝายหนองหวายที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านลบ. ม. มายังพื้นที่ที่ขาดแคลนตามรอบเวรที่กำหนด กำหนด​เริ่มส่งน้ำในวันที่ 24 ก.ค. 62 นี้ เป็นต้นไปเพื่อดูแล​พื้นที่ที่เพาะปลูกแล้วให้​มีน้ำเพียงพอจนกระทั่งเก็บเกี่ยว "เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกสม่ำเสมอ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า ฝนจะเริ่มตกอีกครั้งปลายเดือนกรกฏาคมถึงกันยายน อีกทั้งคาดการณ์ว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนอย่างน้อย 1 ลูกเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนกันยายน ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย รวมทั้งจะมีน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ ซึ่งกรมชลประทานจะได้นำมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง 2562/2563 ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรักษากติกาการรับน้ำตามรอบเวรและใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุดเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างทั่วถึง"อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว ในส่วนโครงการชลประทานเชียงใหม่วางแผนสำรองน้ำดิบกว่า 3.90 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำผลิตประปาเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ฝั่งตะวันตก ส่วนที่เขื่อนแม่กวงฯ ขอความร่วมมือทุกชุมชนสำรวจปริมาณแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเพื่อสำรองในการจัดสรรช่วยทุกภาคส่วน เนื่องจากไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน ปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังสูงสุด