อันตราย!ช่วง 3 เดือนแรกและ 6 เดือนขึ้นไป หากปวดเมื่อยให้ออกกำลังเบาๆ แทน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยว่า จากกรณีหญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน ใช้บริการร้านนวดแล้วช็อกหมดสติ ส่งผลให้แท้งลูก กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราและเสียชีวิตนั้น ปกติหญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยา ขณะตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ไม่ควรนวด เพราะจะกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัวอาจทำให้แท้งได้ ส่วนอายุครรภ์ 4-6 เดือน นวดได้ แต่ต้องนวดกับผู้ที่ผ่านอบรมแล้วเท่านั้น สำหรับหญิงอายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป มดลูกจะไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ไม่ควรนวดร้านทั่วไป แต่หากจำเป็นควรนวดผ่านหมอแผนไทยที่เรียนมาไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง หรือเพื่อความปลอดภัย หากปวดเมื่อย หรือต้องการผ่อนคลายภาวะเครียด ควรออกกำลังกายเบาๆ แทน เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจและกล้ามเนื้อ ช่วยให้หลับสนิทและคลอดง่าย หากไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนควรทำเมื่ออายุครรภ์ได้ 2 เดือน ส่วนผู้ที่เคยแท้งง่ายติดต่อกัน หากต้องการออกกำลังกาย แนะนำให้เริ่มหลังตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนไปแล้ว เริ่มจากเบาไปหนักหรือช้าไปเร็ว เช่น ทำงานบ้าน เดิน วันละ 10 - 15 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาจนครบวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรหักโหม ควรแบ่งทำเป็นช่วง ช่วงละ 15 นาที อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า สำหรับหญิงอายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายในท่านอนหงายนานเกิน 5 นาที หรือท่าเบ่งหรือกลั้นหายใจ เพราะทำให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลงและเป็นลมได้ ควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอระหว่างออกกำลังกาย และหลังออกกำลังกายทุกครั้งควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Cool down) ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 3 - 5 นาที เพื่อป้องกันการหดตึงของกล้ามเนื้อที่จะส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บ ที่สำคัญหากปวดท้อง ปวดหลัง หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ใจสั่น หน้ามืดจะเป็นลม มีเลือดออกช่องคลอด ต้องหยุดออกกำลังกายทันทีและไปพบแพทย์ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความดันสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผอ.กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ให้สังเกตร่างกายตนเองก่อน หากปวดท้อง อ่อนเพลีย หน้ามืดจะเป็นลม มีเลือดออกช่องคลอด ควรเลี่ยงออกกำลังกาย หากอากาศร้อนและชื้นเกินไปควรออกกำลังกายในระดับเบา เช่น เดิน แต่งกายให้เหมาะสม เช่น สวมรองเท้าผ้าใบ ใส่กางเกงพยุงท้อง เสื้อผ้าที่ใส่สบายเพื่อป้องกันหกล้ม และก่อนออกกำลังกายทุกครั้งควรอบอุ่นร่างกายโดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Warm up) ครั้งละ 3 - 5 นาที ไม่กินอาหารมื้อหนักก่อนออกกำลังกาย 2 ชั่วโมง