นายวิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนชื่อดัง เขียนบทความเรื่องจิตสำนึก 3 แบบ ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า...
“จิตสำนึก 3 แบบ” มีคนจำนวนมากบอกว่า “รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์” ทั้งที่ยึดอำนาจและได้รับการเลือกตั้งมานั้นไม่แตกต่างกับ “รัฐบาลของระบอบทักษิณ” เพราะมีรัฐมนตรีที่สำคัญคนเดียวกัน จึงสรุปได้ว่ารัฐบาลไหนก็ “เหมือนกัน” ประชาชน 2 ฝ่ายที่สู้กันมานานนับสิบปีก็เหนื่อยเปล่า บาดเจ็บล้มตายเปล่า แต่ถ้าเรามองที่ “อุดมการณ์” ของทั้ง2ฝ่ายก็จะเห็นว่าไม่เหมือนกัน “แกนนำ” ของรัฐบาล "ระบอบประยุทธ์" นั้นมีอุดมการณ์ “อนุรักษ์นิยม” คือต้องการธำรงไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนแกนนำของรัฐบาลของระบอบทักษิณนั้นต้องการสถาปนาระบอบ “เสรีนิยม” (ที่มีคอมมิวนิสต์หรือนักสังคมนิยมเป็นแนวร่วม ส่วนพวกคอมมิวนิสต์ก็หวังใช้ระบอบทักษิณเป็นเครื่องมือ..ในฐานะ “คู่ขัดแย้งหลัก” กับระบอบเดิม) อุดมการณ์แตกต่างกันชัดเจน แกนนำทั้ง 2คนนั้นมี “จิตสำนึกแบบผู้ครอบครอง” ส่วนนักการเมืองทั้งที่เป็นรัฐมนตรีและเป็น ส.ส. นั้น ส่วนมากแล้วพวกเขาอยู่ฝ่ายไหนก็ได้ที่ “ชนะ” เพราะพวกเขาต้องการมีอำนาจ และอำนาจนั้นก็จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่างๆมากมาย ตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง...ทั้งหมดเป็นการเฉลิมฉลองอัตตาของพวกเขา เรามองว่าพวกเขาเป็นกลางๆ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต้องการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติก็ได้ มองว่าเป็นพวก “จิตสำนึกให้เช่า” ก็ได้ ข้อดีของการมีพวกจิตสำนึกให้เช่า หรือพวกกลางๆ หรือพวก "ชนะไหนชนะด้วย" ก็คือ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินไปได้ และไม่แตกหักกันทั้ง2ฝ่าย ส่วนพลเมืองที่แปลว่า "พลังของเมือง" แต่ไม่ค่อยมีพลัง ก็สามารถแสวงหาประโยชน์ได้เช่นกัน คือพยายามเรียนรู้ - รู้ให้เท่าทันนักการเมืองทุกคน ทุกฝ่าย ประการสำคัญเรียนรู้ – รู้เท่าทัน “อุดมการณ์กับชีวิตจริง” ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอุดมการณ์ที่ “นำเข้า” จากต่างประเทศแล้วเอามา “เลี้ยงดู” ไว้ในวัฒนธรรมไทย จะได้ไม่ตกเป็น “เครื่องมือ” ของอุดมการณ์ แต่เอาอุดมการณ์นั้นมาเป็นเครื่องมือ (และไม่ลุ่มหลงนักการเมืองที่เร่ขายอุดมการณ์จนโงหัวไม่ขึ้น) ผมเคยใช้มีดกับส้อมสำหรับกินปลาน้ำจืดในท้องถิ่นไทย ปรากฏว่าก้างติดคอ ส่วนพ่อแม่ปู่ย่าตายายของผม “กินมือ” จึงเลือกก้างปลาออกได้หมด ซดน้ำแกงก็คล่องคอ ส่วนผมต้องปั้นข้าวเป็นก้อนแล้วพยายามกลืนลงคอ เพื่อให้มันกวาดเอาก้างลงท้องไปด้วย พวกนักการเมืองหรือพวกนักแสวงหาอำนาจนั้นเขามี "วิถีและวิธี" ของเขา ส่วนพลเมืองอย่างเราๆท่านๆนั้นก็สามารถเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกของตนได้ ว่าต้องการจิตสำนึกแบบไหน จิตสำนึกแบบ “ผู้ถูกครอบครอง” หรือ “จิตสำนึกอารยะ”