สหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ติวเข้มกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าจากไหม 4 จังหวัดอีสาน รวมเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน หวังยกระดับความสามารถ ทั้งการผลิต นวัตกรรม การเชื่อมโยง พัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงตลาดต้องการ สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มคลัสเตอร์อย่างยั่งยืน วันนี้ (21 ก.ค.) นายดุสิต ทองทา สหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดโครงการประชุมเชิงปฎิบัติการคลัสเตอร์ สินค้าปศุสัตว์ (ไหม) ระดับภาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าจากไหม ในลักษณะคลัสเตอร์ เพื่อจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน และร่วมกำหนดเป้าหมาย ทิศทางการพัฒนาคลัสเตอร์ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่โรงแรมเดอศิตา ปริ้นเซส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยมีเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าจากไหม ทั้งสหกรณ์ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหัวสะพาน จำกัด อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์, สหกรณ์การเกษตรทอผ้าไหมบ้านคู จำกัด อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์, สหกรณ์การเกษตรผ้าไหมปักธงชัย จำกัด จ.นครราชสีมา, สหกรณ์การเกษตรผู้ผลิตหม่อนไหม จำกัด จ.อำนาจเจริญ สหกรณ์การเกษตรเส้นไหมใบหม่อนกกแดง จำกัด จ.มุกดาหาร และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 50 คนเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตามผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาคลัสเตอร์ระดับภาค เพื่อให้ผู้ประสานงานคลัสเตอร์ (CDA) บุคลากรของสหกรณ์ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในคลัสเตอร์สินค้าระดับภาค ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัญหา อุปสรรค ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาปรับปรุงแผนงานโครงการ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าระดับภาคแล้ว ยังได้มีการจัดกิจกรรมทดสอบตลาด ร่วมกับสหกรณ์อื่นเพื่อขับเคลื่อนคลัสเตอร์ไหม โดยการออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นการทดสอบตลาด ที่ตลาดเซราะกราว ถนนคนเดินเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ด้วย มีประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจ เลือกซื้อสินค้าเป็นอย่างดี นายดุสิต ทองทา สหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า การที่จะให้คลัสเตอร์แต่ละกลุ่ม สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการสนับสนุน การพัฒนาในรูปแบบยุทธศาสตร์ และวิธีดำเนินการของแต่ละคลัสเตอร์ที่ได้ร่วมกันคิดและสร้างขึ้นมา ซึ่งหลักของคลัสเตอร์นั้น ต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร มีความเชื่อมโยงกันของเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีระบบการจัดการด้านการผลิต การตลาด สามารถวางแผนการผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสินค้า ตรงตามความต้องการของตลาด สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการยกระดับสินค้าให้สามารถจำหน่ายได้ในตลาดต่างประเทศ นายดุสิต กล่าวต่อว่า สำหรับสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับผิดชอบให้ดำเนินการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ สินค้าปศุสัตว์จากไหม ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วใน 2 ระดับ ในการอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ และครั้งนี้เป็นการติดตามผลที่ได้ขับเคลื่อนไปแล้วก่อนหน้า ซึ่งจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้การพัฒนาขับเคลื่อนคลัสเตอร์ไหมในระดับภาคต่อไป “มีการติดตามพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การย้อมผ้า การทอผ้า หรือการพัฒนาลวดลายต่างๆของผ้าให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ ว่ากลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์แต่ละแห่งที่ได้เข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์นี้ ได้มีการนำไปพัฒนาอย่างไรหลังจากได้รับความรู้ต่างๆไปแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้เราจะถอดบทเรียนร่วมกัน ว่าสิ่งที่เราได้ปฎิบัติไปแล้วมีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง หลังจากนั้นจะได้มีการวางแผนพัฒนาต่อไป เพื่อให้การรวมกลุ่มของคลัสเตอร์นี้มีความเข้มแข็งต่อไป” นายดุสิต กล่าว