“ธรรมนัส” เร่งแก้กว๊านพะเยาแห้งขอด เล็งขุดลอกกำจัดตะกอนดินที่ทับถมใต้ท้องน้ำ สร้างฝายพับเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น แก้บุกรุก ลดความเสื่อมโทรม สั่ง กรมประมง หนุนอาชีพประมงชาวบ้านกว๊านพะเยา เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ จัดระเบียบการทำประมงน้ำจืด เพิ่มพูนรายได้ให้สูงขึ้น เมื่อวันที่ 20 ก.ค.62 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมายังกว๊านพะเยาร่วมกับนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงเพื่อหาแนวทางพัฒนาอาชีพประมงน้ำจืดแก่ชาวบ้าน โดยนายอดิศร รายงานว่า กว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือตอนบน อยู่ที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยามีพื้นที่ประมาณ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งรับน้ำจากลำน้ำ 10 ลำน้ำได้แก่ ลำน้ำแม่ปืม แม่เหยี่ยน แม่ตุ้ม แม่ต๋ำ แม่ต๋อม แม่ตุ่น แม่นาเรือ แม่ใส แม่ต๊ำ และมีลำน้ำแม่อิงป็นลำน้ำสายหลัก จากการสำรวจพบสัตว์น้ำประมาณ 28-36 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มปลาสร้อย ปลาตะเพียน และปลานิล มีชาวประมง 17 ชุมชน 344 ครอบครัว โดยการทำประมงส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น แห ข่าย ยอ เบ็ด ตุ้ม เป็นต้น รายได้จากการทำประมงโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณครัวเรือนละ 7,000–9,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันกว๊านพะเยาได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นได้แก่ ปัญหาที่ดินทำกิน การบุกรุกพื้นที่ การขยายตัวของวัชพืช คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมที่สำคัญที่สุดคือ ภาวะภัยแล้งที่ทำให้ชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำลดลง ที่ผ่านมากรมประมงได้แก้ปัญหาโดย ขุดลอกกำจัดตะกอนดินที่ทับถมใต้ท้องน้ำ สร้างฝายพับเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น กำจัดวัชพืช เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่กว๊านพะเยา ทั้วนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้กำชับให้จัดระเบียบการทำประมงในกว๊านพะเยา เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การจัดทำทะเบียนเรือ และทะเบียนเครื่องมือประมง กำหนดเครื่องมือการทำประมงที่เหมาะสม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกภาคส่วนทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรประมง โดยสร้างแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ สร้างแหล่งสมดุลของระบบนิเวศประมง และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำเพื่อพัฒนาให้กว๊านพะเยาให้เป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้กับประชาชนโดยรอบ พร้อมกันนี้ได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 150,000 ตัว ได้แก่ ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว ปลาเทพา เป็นต้น ลงสู่กว๊านพะเยา ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้ให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทย (สปท.) เข้าพบเพื่อรับทราบปัญหาและหารือถึงแนวทางแก้ไข ซึ่งนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอที่สมาชิกและชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลต้องการให้รัฐบาลแก้ไขได้แก่ ปัญหากฎหมาย ประมงที่รุนแรง แม้เป็นการกระทำความผิดโดยไม่มีเจตนา แต่ถูกดำเนินคดีและเสียเงินค่าปรับเป็นเงินหลักแสนถึงหลักหลายล้าน อีกทั้งยังถูกยึดสัตว์น้ำที่ประมงอย่างถูกต้องทั้งหมดในแต่ละครั้ง และอาจจะต้องถูกคำสั่งพักใบหรือเพิกถอนใบอนุญาตอีกด้วย กลุ่มเรืออวนรุนเดิมที่ถูกกฎหมาย ถูกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหารการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มีคำสั่งให้ยกเลิกใบอนุญาตภายในเวลา 2 สัปดาห์ ในช่วงปี 2558 จำนวน 342 ลำ โดยที่ไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอทำให้หลายคนต้องหมดหนทางประกอบอาชีพและมีหนี้สินจำนวนมาก กลุ่มเรือที่ถูกกฎหมายเจ้าท่าฉบับใหม่ที่ออกมาแล้วกำหนด ให้ยกเลิกทะเบียนเรือประมงที่เลยกำหนดการต่อใบอนุญาต หรือไม่ได้ต่อใบอนุญาต โดยที่ชาวประมงไม่ได้รู้กฎหมายฉบับใหม่ อีกทั้งไม่เข้าใจกฎหมายด้วยเช่น เรือประมงที่งดใช้เรือประมงอยู่เพราะไม่ได้ออกไปทำการประมงก็ไม่ทราบว่าจะต้องต่อใบอนุญาตใช้เรือทุกๆ ปี จึงไม่ได้ไปต่อใบอนุญาตใช้เรือในแต่ละปี แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ต้องต่อใบอนุญาตทุกปี หากเลยกำหนดจะต้องถูกยกเลิกทะเบียนเรือประมงไป ทำให้เป็นเรือประมงไม่มีทะเบียนไม่สามารถออกทำการประมงได้ รวมทั้งไม่สามารถขายเรือได้อีกด้วยซึ่งเรือประมงนั้นเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือได้ว่า เป็นการยกเลิกทรัพย์สินของชาวประมงไปโดยไม่เป็นธรรม กลุ่มเรือประมงฝั่งอ่าวไทยที่ต้องการจะไปทำการประมงฝั่งอันดามันที่ยังไม่สามารถข้ามฝั่งได้ เช่นเดียวกับกลุ่มเรือประมงฝั่งอันดามันที่ต้องการจะข้ามกลับมาทำประมงฝั่งอ่าวไทยก็ไม่สามารถที่จะกลับมาทำประมงได้ กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสัตว์นำที่มีใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องถูกสั่งปิดโรงงานชั่วคราวและถาวรได้โดยง่ายตาม พ.ร.ก. การประมง มาตรา 11 และมาตรา 11/1 และกรณีที่มีใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจะต้องถูกปรับสูงถึง 400,000 ถึง 800,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน ตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง มาตรา 124 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการออกกฎหมายที่ขัดกับหลักการความเสมอภาคในการประกอบอาชีพ ตามกฎหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายมงคล กล่าวว่า ยังได้เสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ทั้งหมดเกี่ยวกับการประมง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของกฎหมาย แก้ไขพ.ร.ก. การประมงและกฎหมายลู ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ไม่ขัดแย้งกับวิถีการประมงและความยั่งยืนของอาชีพและทรัพยากรประมง ยกร่างกฎหมาบประมงฉบับใหม่ของชาวประมงที่สอดคล้องกับความเป็นจริง แก้ปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำเนื่องมาจากสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายในราคาต่ำกว่า อีกทั้งต้องควบคุมให้สินค้าที่นำเข้ามาจะต้องมาจากประเทศที่ผ่านการแก้ไขปัญหา IUU แล้วและอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศไทยเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นต้น ซึ่งร้อยเอกธรรมนัสได้รับเรื่องไว้และระบุว่า หลังรัฐบาลแถลงนโยบายจะตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากกฎหมายประมงเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง