เวทีเสวนารถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3สนามบิน ใครได้ ใครเสีย ไม่เห็นด้วย “วันนอร์”เชื่อเอื้อปย.นายทุนลงอีอีซี จับตา“ศักดิ์สยาม”เซ็นสัญญา 24 ก.ค.หรือไม่ ขณะที่ “อดีตผู้ว่ารฟท.”จี้เปิดเผยสัญญา            เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่สาม The Third Council Speaks จัดเวทีสภาที่สาม เรื่อง “ตรวจสอบกระทรวงคมนาคม กรณีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน / ค่าโง่การทางพิเศษ และค่าโง่อื่นๆ ที่กำลังจะตามมา” โดยมีมีนักการเมือง และวิทยากร อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ / นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ / นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย             นายสาวิทย์ กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้เกิดรถไฟรางคู่มาโดยตลอด ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ความเร็วสูง เพราะรถไฟความเร็วสูงประชาชนทั่วๆ ไป ไม่สามารถใช้ได้ คนที่จะใช้จริงคือกลุ่มนักธุรกิจ และระยะทาง 220กิโลเมตร และการยื่นซองประมูลมีแค่ 2ราย คือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร และกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ แม้ว่าล่าสุดกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์จะถอนข้อต่อรอง 12 ข้อออกไปแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ อยากให้รัฐบาลเปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะ แท้จริงแล้วใครจะได้ประโยชน์อย่างไร และอนาคตข้างหน้าหากเกิดความเสียหายขึ้นใครจะเป็นคนรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟความเร็วสูง การรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถดำเนินการได้เองทั้งหมด ไม่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งการรถไฟสามารถที่จะนำเงินจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินมักกะสันหรือศรีราชามาลงทุนก่อสร้าง ในงบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นกว่าล้านบาท             ทางด้าน นพ.ระวี กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมจะคุยก่อน และคัดค้านถ้าเป็นโครงการที่ทุจริต ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. มีมติต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม อีก 30 ปี ใน 3โครงการ เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท137,000 ล้านบาท โดยมีข้อเสนอให้รัฐดำเนินการเอง หรือประมูลสัญญาสัมปทานใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐและประชาชนนั้น เพราะหากการทางพิเศษฯ ต่อสัญญาสัมปทานให้กับบีอีเอ็มอีก 30 ปี การทางพิเศษฯ จะมีรายได้อยู่ที่ 326,856 ล้านบาท แม้จะแลกกับการไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย137,089 ล้านบาท แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจมีการแก้สัญญาหรือจ่ายค่าเสียหายในอนาคต               “แต่หากไม่ต่อสัญญากับบีอีเอ็มแล้วให้การทางพิเศษฯ บริหารจัดการเอง ก็จะมีรายได้ถึง 651,612 ล้านบาท ซึ่งหักจากการจ่ายค่าเสียหายแล้ว และไม่มีความเสี่ยงต้องจ่ายค่าเสียหายอีกในอนาคต อีกทั้งการบริหารจัดการพื้นที่จะเป็นของการทางพิเศษฯ ทั้งหมด ดังนั้นหากไม่ต่อสัญญาสัมปทานกับบีอีเอ็มจะเป็นการลดภาระให้กับประชาชนได้ เพราะหากต่อสัญญากับบีอีเอ็ม ค่าทางด่วนจะขึ้น 10 บาททุก 10 ปี แต่หากการทางพิเศษฯ บริหารจัดการเอง ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าทางด่วน และไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วนระหว่างทางซ้ำ สามารถเก็บค่าทางด่วน 30 บาทรวดเดียวทั้งเส้นทางได้”นพ.ระวี กล่าว              นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รัฐบาลเร่งรีบไม่มีความรอบครอบ จึงทำให้เสียค่าโง่หลายโครงการ โดยมารยาทรัฐบาลที่จะพ้นตำแหน่งจะไม่ทำโครงการใหม่ หรือลงนามโครงการใหญ่ จะรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำแทน เป็นแบบนี้ทั่วโลก ตนอยากถามรัฐบาลว่า ทำไมต้องเร่งรีบให้จบใน 3-4 เดือน ทั้งที่โครงการนี้ยาวนานถึง 5 ปี ถ้าลงนามในฐานะรัฐบาลใหม่ 24 ก.ค.62 และแถลงนโยบายใหม่ 25 ก.ค.นี้ สภาจะสามารถร่วมตรวจสอบโครงการได้ และเล็งถึงประโยชน์สูงสุด ทำไมถึงไม่ชะลอไว้ก่อน เพราะจะขยายเวลาสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี อีกทั้งตนไม่เห็นถึงความสำคัญทางด้านเทคนิค ในเมื่อระยะทางทั้งหมดยาวแค่ 220กิโลเมตร และยังมีสถานีตามทาง จะใช้ความเร็วได้ขนาดไหน               นายวันนอร์ กล่าวต่อว่า สนับสนุนรถไฟความเร็วปานกลางAirport Rail Link จากสุวรรณภูมิ ดอนเมือง มักกะสัน อู่ตะเภา เชื่อมแค่ 2สนามบินจะคุ้มค่ากว่า ที่อยากจะเชื่อมต่อ 3 สนามบินนั้น เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มนักลงทุน โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รัฐบาลต้องอย่าลืมว่า รถไฟเป็นของประชาชน และที่ของการรถไฟ เป็นที่ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 รัฐบาลอย่าเอาไปหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง สมควรไหมที่จะมอบพื้นที่ของการรถไฟให้เอกชนไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ หาผลประโยชน์ ใครเสีย ใครได้ รัฐบาลตอบได้ไหม และถ้า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ยังกล้าเซ็นโครงการนี้ในวันที่ 24 ก.ค.รับรองว่า เข้าคุกแน่ๆ              ทั้งนี้ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็น ว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เกิดในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่เชื่อมในประเทศไทย แต่เชื่อมไปประเทศใกล้เคียง แต่รัฐบาลชุดนี้สร้างใช้ในประเทศ และไปจ.นครราชสีมา และยังสร้างทางด่วนโคราชด้วย ทำไมต้องสร้างซ้ำซ้อน และระยะทางแค่ 220 กิโลเมตร แต่จะใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถไฟฟ้าจะไม่สามารถจอดตามสถานีได้ และความคุ้มค่า ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีเพื่อประเทศ แต่ทางกลุ่มนักลงทุนจะได้            “รัฐบาลชุดนี้จะเอาที่ดินของ รัชกาลที่ 5 ไปแจกเอกชนหาผลประโยชน์ รวมถึงจะพยายามผลักดันให้โครงการนี้สัมพันธ์กับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECผมคิดภาพไม่ออกว่านักลงทุนคนไหนจะนั่งรถไฟไปสนามบินอู่ตะเภา ในเมื่อไปสนามบินสุวรรณภูมิสะดวกกว่า ถ้ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจจริง ต้องกล้าเปิดสัญญาให้ตรวจสอบได้ มีแต่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารถึงกล้าทำ รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ไม่มีใครกล้าทำแน่ ตราบใดยังต้องลงทุนกับต่างประเทศ การทำสัญญาจะต้องลงทุนสูง เพราะประเทศไทยไม่เคยรักษาสัญญา”นายประภัสร์ กล่าว