ทหารประชาธิปไตย แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันว่า ความปรวนแปรของภูมิอากาศในโลกนี้ เกิดจากการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งทั่วขั้วโลกเหนือและใต้ละลาย ธารน้ำแข็งหลายแห่งแห้งเหือด แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ได้แตกตัวออกไป เมื่อน้ำแข็งละลายลงไปในทะเล ทำให้ความเข้มข้นเจือจางลงเป็นผลทำให้กระแสน้ำเย็นและกระแสน้ำอุ่นที่เป็นจักรกลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศพลอยติดขัดปรวนแปร จนทำให้ภูมิอากาศของโลกปรวนแปรไปด้วยที่ปรากฏชัดก็คือ ปรากฎการณ์เอลนิโญที่เกิดการแห้งแล้งผิดปกติและต่อเนื่องในบางพื้นที่ และเกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วมในบางพื้นที่ หรือลานีญาที่เกิดฝนตกกระหน่ำอย่างหนักหน่วงพร้อมๆกับลมพายุ จนเกิดมหาอุทกภัย ซึ่งลานีญานี้จะเกิดสลับกับ เอลนิโญจนเป็นประจำ แต่มันเป็นความผิดปกติของภูมิอากาศ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็มาจากฝีมือมนุษย์นั่นคือ การก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก ด้วยการเร่งระดมใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหินและน้ำมัน อันเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นไปครอบคลุมบรรยากาศของโลก ทำให้ความร้อนที่เกิดจากดวงอาทิตย์ที่ส่งแสงมายังโลกไม่อาจสะท้อนกลับไป แต่กลับสะสมอยู่ตามพื้นผิวของโลก รวมกับธรรมชาติของพืชหลายชนิดที่ขับก๊าซมีเทนออกมาก็ช่วยผสมโรงให้ปฏิกริยาเรือนกระจกยิ่งรุนแรงขึ้น ที่น่าตกใจไปกว่านั้นในแผ่นน้ำแข็งใหญ่ๆที่ขั้วโลกและภูเขาน้ำแข็ง ตลอดจนธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ยังกักเก็บเอาก๊าซมีเทนไว้เป็นจำนวนมากดังนั้น เมื่อน้ำแข็งละลายเพราะอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ก๊าซมีเทนก็จะฟุ้งกระจายออกมาซ้ำเติมภาวะโลกร้อนขึ้นไปอีก แม้จะมีเหตุการณ์หลายอย่างยืนยันชัดเจน สถิติก็บ่งบอกว่าแนวโน้มอุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น แต่ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้เวลาน้ำแข็งละลายจะคลายความเย็นออกมา ทำให้เกิดความหนาวเย็นอย่างมากและเกิดพายุหิมะในฤดูหนาว ซึ่งทำให้พวกที่ไม่ยอมรับความจริงอย่างนายทรัมป์และรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ออกมาทำตลกด้วยการกล่าวว่า "ไหนใครว่าโลกร้อน" แต่ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทั่วโลกกลับมองว่าทั้งสองท่าน คือ ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ เป็นเหมือนตัวตลกโดนัลดักส์ และ มิกกี้(ไมค์) เม๊าส์ เพราะท่านทั้งสองไม่ยอมรับความจริงเรื่องภาวะโลกร้อน และไม่ยอมออกมาตรการควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานฟอสซิล แล้วหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และหมุนเวียนใช้ได้อย่างไม่สิ้นสุด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนจากใต้ดิน แม้แต่พลังงานชีวมวลและขยะ ซึ่งถ้าส่งเสริมกันอย่างจริงจัง ก็จะสามารถลดต้นทุนลงไปได้ และลดปัญหามลภาวะกับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้มาก ปรากฎการณ์ที่ยืนยันชัดเจน เช่น เมื่อไม่นานมานี้เกิดฝนตกหนักอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดน้ำท่วมโดยฉับพลัน และทำให้มีผู้เสียชีวิต 67 คน ในเนปาล 25 คนในอินเดีย 14 คนในบังคลาเทศ ทำให้ประชาชนในเอเชียใต้ไร้ที่อยู่ประมาณ 1 ล้านคน แน่นอนทุกปีเมื่อเข้าฤดูมรสุมจะเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม แต่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าฝนที่ตกลงมานั้นหนักกว่าที่เคยเกิดในอดีตมาก และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ในขณะเดียวกันจะพบว่าช่วงของฤดูมรสุมในปีนี้จะสั้นลง หลายพื้นที่จะเกิดความแห้งแล้งจนไม่อาจเพาะปลูกได้ เช่น บางพื้นที่ในประเทศไทยทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ ตลอดจนภาคกลางอันเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศบางคนก็เลยโทษว่ามันเกิดอาเพศ เพราะมีคนไม่ดีมาเป็นใหญ่เป็นโต ซึ่งมันคงเป็นแค่การประจวบเหมาะเท่านั้น แต่กฎธรรมชาติบอกว่าเราก่อกรรมเอาไว้ธรรมชาติก็คืนสนอง มาดูเหตุการณ์อีกฟากโลก คือที่สหรัฐอเมริกา นิวออร์ลีนส์ที่เกิดน้ำท่วมมาหลายครั้ง ตั้งแต่เฮอริเคนแคทธรินาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่คนตายจำนวนมาก บ้านเรือนเสียหายเพราะประธานาธิบดีบุชไม่เชื่อคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ และไม่เตรียมความพร้อมรับมือ ตลอดจนอพยพผู้คนได้ทันเวลา ปีนี้ก็เกิดเหตุซ้ำรอยเดิมเมื่อพายุแบรีพัดเข้าสู่รัฐลุยเซียนาและทำให้ประชาชนกว่า 11 ล้านคน ต้องผจญกับน้ำท่วมฉับพลัน จนประธานาธิบดีทรัมป์ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน บางพื้นที่ประชาชนกว่า 60,000 คน ต้องอยู่โดยปราศจากไฟฟ้า อีกหลายคนต้องรีบอพยพอย่างฉุกระหุก ส่วนเรื่องของภูมิอากาศเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานับว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด เราๆท่านๆก็ได้ประสบมาแล้ว แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดทั่วโลก และห้าปีมานี้เป็นห้าปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงหน้าร้อนๆมากกว่าเมื่อห้าปีก่อนหน้านี้ และนักวิทยาศาสตร์ก็คาดการณ์ว่าห้าปีต่อไปนี้จะยิ่งร้อนกว่าเก่า ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ได้ทำลายพืชผลเสียหาย แต่แล้วก็จะถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดตามมา จนมีผลทำให้เกิดการอพยพจากหลายประเทศ เพื่อเข้ามาหางานทำในเมือง แต่ก็โชคร้ายงานในเมืองก็หาได้ยากเย็น และในบางประเทศก็มีผู้อพยพจากประเทศใกล้เคียงเข้ามายึดพื้นที่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามคณะผู้นำประเทศในสหรัฐฯซึ่งเป็นหลักใหญ่ในการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ กลับหลบเลี่ยงปัญหา ด้วยการโทษประเทศอื่นอย่างจีนและอินเดีย ในขณะที่สหรัฐฯไม่ยอมลงนามในสัตยาบรรณที่จะลดโลกร้อนด้วยการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมี 2 ประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ไม่ยอมลงนามคือ สหรัฐฯกับออสเตรเลีย ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมสหรัฐฯไม่ยอมลงนามในสัตยาบรรณดังกล่าวเพราะนโยบายนี้จะไปขัดผลประโยชน์ของรัฐบรรษัท หรือรัฐลีก(Deep State) ที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมใหญ่ๆอย่างอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมถ่านหิน อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมอันหลังนี้จะเกิดผลกระทบหากต้องปรับเปลี่ยนมาผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด เพราะจะต้องลงทุนใหม่อีกจำนวนมหาศาล เมื่อมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของบรรษัทที่มีกำลังเงินมหาศาลก็เกิดการล๊อบบี้ผู้บริหารและสภาของสหรัฐฯ ตลอดจนการหาวิธีการหว่านล้อมพวกที่ทำงานในองค์กรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ บุคคลเหล่านี้จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะบิดเบือนข้อมูลให้ดูว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้หรือเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆที่ปัญหาโลกร้อน และวิกฤตการณ์ภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก พื้นที่ลุ่มต่ำหลายพื้นที่จะถูกน้ำท่วม แต่หลายฝ่ายก็ยังไม่ยอมรับโดยกล่าวว่า "เรื่องนี้พูดกันมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นน้ำท่วมชนิดถาวรเสียที นอกจากท่วมเป็นฤดูกาลซึ่งเป็นปกติ" แต่ผู้เขียนได้อ่านรายงานของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนหลายท่านที่ถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "นี่มันของจริงไม่ใช่มายาคติอย่างแน่นอน"