รวมพลคนรักเลตูล ร่วมประกาศเจตนารมณ์การทำประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน พร้อมขอให้ปรับปรุงนโยบายและกฎหมายการประมง ที่อาคารเอนกประสงค์ สวนสาธารณะ หาดราไว ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กลุ่มสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล (ภาคพิเศษ) : 500 คน รวมตัวกันภายใต้ชื่อ สมัชชาชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล (ภาคพิเศษ) :รวมพลคนรักเลตูล ร่วมประกาศเจตนารมณ์การทำประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการประมงพื้นบ้านที่มีกว่า 6,800 ลำอย่างยั่งยืน โดยเชิญนายวีระพรรณ สุขขะวัลลิ นายอำเภอทุ่งหว้า มาเป็นประธานเปิด พร้อม ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษากรมประมงด้านการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มาร่วมรับฟังและรับเสนอแนะของชาวประมงพื้นบ้านและพบปะตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน โดยมีนายอับดุลรอซัก เหมหวัง ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอำเภอทุ่งหว้า เป็นผู้รายงานความเป็นมาในครั้งนี้ว่า พร้อมรายงานสถานการณ์ชาวประมงพื้นบ้านประกอบอาชีพการประมง ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ท่าแพ, อ.ละงู และ อ.ทุ่งหว้า จำนวน 115 หมู่บ้าน มีเรือชาวประมงพื้นบ้านจากการสำรวจของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ประมาณ 6,800 ลำ ประชากรในครอบครัวเฉลี่ย 34,400 คน การประมงพื้นบ้านจึงเป็นฐานอาชีพสำคัญของประชาชนชายทะเลจังหวัดสตูล โดยจากการแก้ไขปัญหาการประมง IUU โดยภาครัฐ และความร่วมมือของเอกชนและประชาชน ได้ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการทรัพยากรในภาพรวม ไม่เฉพาะแค่สามารถปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรปได้เท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการประกอบอาชีพการประมงของชุมชนชายฝั่งมากขึ้น การแก้ไขปัญหาการประมง ยังเน้นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรให้ยั่งยืนโดยชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน โดยที่พวกเราในจังหวัดสตูล ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ จนล่าสุดตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดสตูลเรา ได้รับเข็มเกียรติยศ และประกาศนียบัตรจาก พณฯ ท่าน นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการประมงของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาอุปสรรคที่จำเป็นต้องแก้ไขอีกมากในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางกฎหมายบางมาตราที่มีผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน หรือ กรณีที่มีการแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติใหม่ ที่เปิดให้มีช่องทางให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำการประมงอย่างถูกกฎหมายในอุทยานทางทะเลได้ หรือ กรณีการประมงผิดกฎหมายในชายฝั่ง ที่ยังส่งผลกระทบต่อการประมงอื่นๆ อยู่บ้าง นายอับดุลรอซัก เหมหวัง ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอำเภอทุ่งหว้า กล่าวด้วยว่า พวกเราตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจากพื้นที่ต่างๆในจังหวัดสตูล ได้รวมตัวกันมายาวนาน และได้ห่างหายการพบปะกันด้วยภารกิจต่างๆ จึงได้นัดประชุมพบปะกันในวันนี้ เพื่อพบปะให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อยืนยันร่วมกันว่าการประมงแบบทำลายนั้น สร้างความร่ำรวยแค่ “ชั่วคราว” แค่ไม่กี่คน แต่การทำการประมงอย่างรับผิดชอบยั่งยืน เป็นความมั่นคงยั่งยืนของชุมชนและประเทศที่แท้จริง ในการประชุมครั้งนี้ มีชาวประมงพื้นบ้านมาร่วมจากทั้งสี่อำเภอชายฝั่งสตูล ประมาณ 500 คน นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้กำลังใจกันแล้ว เราตั้งใจว่าจะสรุปความเห็นและนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากที่ประชุม เสนอไปยังผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยข้อสรุปในที่ประชุมเสนอคือ ขอให้ ปรับปรุงนโยบายและกฎหมายการประมง การประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 แม้จะมีส่วนดีอยู่หลายประการ แต่ก็ยังมีข้อกำหนดที่กระทบชาวประมงพื้นบ้านอยู่ด้วยเช่นกัน จึงเสนอให้แก้ไข อาทิ ต้องให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทำงานที่มีเป้าหมายโดยตรง “ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประมงพื้นบ้าน” โดยสร้างโอกาสการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ งบประมาณ การจัดการประมงที่ยั่งยืน การแปรรูป และทางเลือกทางออกของชาวประมงพื้นบ้านเอง , การให้คำนิยาม ประมงพื้นบ้านเสียใหม่ ในมาตรา 5 ที่ให้นิยามความหมาย “ประมงพื้นบ้าน” ใน มาตรา ว่า เป็นการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมงหรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์ และกำหนดความหมาย “ประมงพาณิชย์” ว่าการทำประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอส ขึ้นไป หรือเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งยังขัดแย้งต่อความเป็นจริง การยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 34 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง ซึ่งหมายถึงให้ทำการประมงภายใน 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ส่วนข้อเสนอทางกฎหมายอื่น ที่ควรเร่งดำเนินการ ให้แก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 24/2558 ที่มีการห้ามจดทะเบียนเรือประมงทุกประเภทมาตั้งแต่ ปี 2558 กลับมาอนุญาตให้จดทะเบียน “เรือประมงพื้นบ้าน” ได้ โดยให้จดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอสได้ทั่วประเทศ (เหตุผล คือ ขนาดเรือ 3-10 ตันกรอส ไม่สามารถทำการประมงได้ ผิดมาตรา 10 เป็นเรือไร้สัญชาติ) , เร่งรัดกรมเจ้าท่า ให้รีบอำนวยความสะดวกกรณีเปลี่ยนทะเบียนเรือที่จดทะเบียนประมงพื้นบ้าน สามารถประกอบกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กันได้ โดยจัดให้มีระเบียบข้อกำหนดการจดทะเบียนเรือและขออนุญาตสำหรับชาวประมงพื้นบ้านโดยเฉพาะ เนื่องจากวัตถุประสงค์การใช้เรือ ลักษณะของเรือ การใช้งานเครื่องยนต์ เครื่องมือประมงที่แตกต่างจากเรือประมงพาณิชย์ และอีกหลายข้อเสนอ