บุรีรัมย์พ่อแม่น้องป้าย เหยื่อแพรวา ซิ่งเก๋งชนรถตู้โดยสารดับ 9 ศพ เรียกร้องให้จำเลยเคารพคำตัดสินศาลชดใช้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย แม้เงินจะไม่สามารถแลกชีวิตลูกสาวได้ แต่ควรมีจำสำนึกความเป็นมนุษย์ที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่กระทำ ถามหากเป็นฝ่ายสูญเสียบ้างจะรู้สึกยังไง ผ่านไป 9 ปียังทำใจไม่ได้ วันนี้ (18 ก.ค.62) จากกรณีอุบัติเหตุสุดสะเทือนขวัญ เมื่อปี 2553 ที่ น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขับรถเก๋งชนรถตู้โดยสาร บนทางด่วนโทลล์เวย์ขาเข้า หน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ จนถึงขณะนี้ผ่านไปนาน 9 ปีแล้ว และล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค.2562 ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 1 หมู่ 13 ต.ห้วยหิน อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.จันจิรา ซิมกระโทก หรือน้องป้าย นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว ก็ได้พบกับนายสะโอด ซิมกระโทก อายุ 64 ปี และนางปิยะวรรณ ซิมกระโทก อายุ 61 ปี อดีตข้าราชการครูเกษียณ ซึ่งเป็นพ่อและแม่ของ น.ส.จันจิรา หรือน้องป้าย ที่เสียชีวิต โดยนายสะโอด ผู้เป็นพ่อ บอกว่า ตนมีลูกทั้งหมด 3 คน เป็นชาย 2 คน ส่วนน้องป้าย เป็นลูกสาวคนเล็ก ตอนที่น้องป้าย เสียชีวิตมีอายุ 22 ปี หากน้องยังมีชีวิตอยู่ก็จะอายุ 31 ปี คงจะได้ทำงาน และอยู่ดูแลพ่อแม่ตามความฝันของน้อง และยอมรับว่าแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านไปนานถึง 9 ปีแล้ว ทั้งพ่อและแม่ก็ยังทำใจไม่ได้ โดยเฉพาะผู้เป็นแม่เวลาที่คิดถึงลูกก็จะเอารูปถ่ายของน้องมากอด ส่วนเรื่องคดีก็ได้รับการช่วยเหลือจาก ม.ธรรมศาสตร์ ที่ติดต่อประสานงานและจัดหาทนายคอยช่วยเหลือมาตลอด แต่สิ่งที่รู้สึกเสียใจคือตั้งแต่เกิดเรื่อง ทางครอบครัวของจำเลยไม่เคยมาแสดงความผิดชอบอะไรเลย โทรศัพท์มาแค่ครั้งเดียวบอกว่าจะโอนเงินมาช่วยงานศพน้อง 20,000 บาท แต่ตนเองก็ไม่ได้สนใจว่าจะโอนมาหรือไม่โอนมา เพราะตอนนั้นเสียใจมากที่ต้องสูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รักไป แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้รับการติดตามจากคู่กรณีอีกเลย กระทั่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาให้จำเลยหรือคู่กรณีจ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้ง 9 ราย แต่หลังศาลตัดสินผ่านมา 2 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาเลย จึงอยากจะเรียกร้องให้จำเลยได้เคารพคำตัดสินของศาล และเห็นใจครอบครัวผู้สูญเสียด้วย เพราะถึงแม้เงินที่ได้รับจะไม่สามารถทดแทนกับชีวิตลูกสาวที่สูญเสียไปได้ แต่ก็ควรจะมีจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ พร้อมฝากถามด้วยว่าหากเป็นครอบครัวคุณบ้างจะรู้สึกยังไง