สุรินทร์แล้งวิกฤติหนัก 2 อ่างเก็บน้ำหัวใจหลักผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมืองแห้งขอดในรอบ 41 ปี คาดใช้น้ำได้อีก 1 เดือนชาวบ้านเริ่มช่วยตัวเอง ออกหาตักน้ำมาสำรองใช้แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้รถบรรทุกน้ำออกช่วยเหลือแต่ยังไม่ทั่วถึง วันนี้ (17 ก.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ยังคงสภาพแห้งแล้ง และขยายพื้นที่ ออกไปทั่วทั้งจังหวัด จากภาวะฝนที่ทิ้งช่วงมาร่วม 2 เดือน ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ พบว่าต้นกล้าข้าวเริ่มทยอยยืนต้นแห้งตายในหลายพื้นที่ แม้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มาบินโปรยสารเคมีเพื่อทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่องกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังอ่างเก็บน้ำอำปึล ต.เทนมีย์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำสำรองน้ำดิบเพื่อปล่อยไปสมทบกับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ต.เฉนียง (ฉะ-เนี๋ยง) อ.เมือง ไว้ใช้ผลิตน้ำประปาเลี้ยงชุมชนเมือง พบว่าอ่างเก็บน้ำอำปึล แห้งขอดวิกฤติหนักไม่ต่างจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จากความจุของอ่างเก็บน้ำอำปึล ทั้งหมด 27.68 ล้าน ลบ.ม.(ลูกบาศก์เมตร) ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำเพียง 0.94 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงมีความจุทั้งหมด 20.8 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำพียง 1.6 ล้าน ลบ.ม.โดยจะต้องใช้น้ำดิบผลิตน้ำประปาให้ชุมชนในเมืองถึงเดือนละ 1 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะสามารถใช้ผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมืองได้อีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น โครงการชลประทานสุรินทร์ ได้พยายามขุดร่องน้ำแอ่งน้ำจุดต่างๆในอ่างเก็บน้ำเพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันที่บริเวณประตูระบายน้ำเพื่อปล่อยน้ำเท่าที่เหลือ ให้ไหลอย่างช้าๆลงไปสมทบกับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงอยู่ในขณะนี้ แต่คาดว่าคงไม่เพียงพอหากฝนยังไม่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนหลังจากนี้ สถานการณ์ภัยแล้งจากสภาวะฝนทิ้งช่วงดังกล่าว ไม่เคยเกิดขึ้นหนักขนาดนี้มาก่อนในพื้นที่ในรอบ 41 ปี ตั้งแต่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งขึ้นมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้ง จากสภาวะฝนทิ้งช่วงดังกล่าว เริ่มส่งผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ และกำลังได้รับความเดือดร้อน หลังจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ ได้เปิดให้บริการน้ำเป็นช่วงเวลาและลดแรงดันน้ำลง ทำให้หลายชุมชนน้ำไหลน้อยและไม่ไหลเลย ปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนกำลังเดือดร้อนหนัก บางรายถึงกับต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการหาภาชนะออกไปตักน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆมาเก็บไว้ใช้ที่บ้านกันแล้ว แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการนำรถบรรทุกน้ำให้บริการตามชุมชนต่างๆแล้วแต่ก็ยังไม่ทั่วถึง