วันที่ 17 ก.ค.ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความเพจเฟซบุ๊กถึงปัญหาคุณสมบัติของนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ความว่า...“คุณอุตตมสร้างความเสี่ยงให้แก่ ครม.”เหตุผลที่สภาที่ 3 และตัวผมเอง เน้นทำการตรวจสอบคุณสมบัติของคุณอุตตมนั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่พรรดการเมืองใด แต่สืบเนื่องจากคุณอุตตม ก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ ครม. ต่อไปในอนาคต เมื่อใดที่ ครม. มีมติที่ทำให้บุคคลใดเสียประโยชน์ เช่น ผู้ที่แพ้ประมูล ก็มีความเสี่ยงว่าเขาอาจจะอ้างว่า ครม. ชุดนี้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และมติอาจจะเป็นโมฆะ จึงอาจเป็นความเสี่ยงต่อการบริหารราชการแผ่นดิน แบบปลายเปิด ถามว่า ขณะนี้มีข้อมูลที่มีข้อยุติแล้ว ที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะที่จะรับทราบ ว่ามีการกระทำผิด หรือไม่? ตอบว่า มี คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ลงราชกิจจานุเบกษา เป็นข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีย่อมต้องทราบ ถามว่า คำพิพากษามีการวินิจฉัยการกระทำของคณะกรรมการบริหาร อย่างไร? ตอบว่า มีความผิด โดยศาลฯ กล่าวว่า (หน้า ๕๑)“แสดงให้เห็นได้อย่างขัดเจนว่า นอกจากคณะกรรมการบริหารจะมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๒ และคำสั่งธนาคารกรุงไทย ที่ ธ. ๒๒๒/๒๕๔๕ เรื่องนโยบายสินเชื่อ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๕ ข้อ ๓๑.๓ ข้อย่อย ๒ ก แล้ว คณะกรรมการบริหารยังมีเจตนาช่วยเหลือให้จำเลยที่ ๑๙ ได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนวนถึง ๙,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมิได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย มีเจตนาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มจำเลยที่ ๑๙ ให้ได้รับเงินจากธนาคารผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวเพื่อนำไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ ๒๐ เมื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นคณะกรรมการบริหาร จึงเป็นพนักงานตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๐ และยังเป็นกรรมการของธนาคารผู้เสียหายซึ่งมีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และประมวลกฎหมายอาญา ทั้งเมื่อพิจารณาลักษณะของอำนาจหน้าที่แล้ว ย่อมเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการรักษาและครอบครองทรัพย์สินธนาคารผู้เสียหายด้วย การกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ กระทำผิดหน้าที่ของตนเบียดบังอาทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ธนาคารผู้เสียหายจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ และมาตรา ๑๑”ซึ่งคำว่าคณะกรรมการบริหารนั้น ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งคณะ ถามว่า นายกรัฐมนตรีควรจะรู้หรือไม่ ว่าคุณอุตตม มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือไม่? ตอบว่า มี หนึ่ง ในหน้า ๙ ศาลฯ ระบุชื่อคุณอุตตม เป็นกรรมการบริหาร ซึ่งทั้งคณะมี ๕ คน สอง ในหน้า ๙ ศาลระบุถึงมติคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยฯ ครั้งที่ ๗/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔ สาม เนื่องจากมติ ครั้งที่ ๗/๒๕๔๔ กำหนดว่า การอนุมัติสินเชื่อโดยคณะกรรมการบริหาร ทุกกรณีจะต้องเป็นมติเอกฉันท์ ดังนั้น มติคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ ที่อนุมัติสินเชื่อ จึงต้องมีคุณอุตตมร่วมด้วย อย่างไม่มีข้อสงสัย ถามว่า นายกรัฐมนตรีควรจะรู้ได้จากข้อมูลเหล่านี้ ว่าคุณอุตตมมีคุณสมบัติ หรือไม่? ตอบว่า ควร เพราะคุณสมบัติตาม รธน. มาตรา ๑๖๐ ว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง นั้น ไม่จำเป็นว่าบุคคลนั้นต้องถูกดำเนินคดีเสียก่อน เพียงแค่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ก็จะต้องนำมาพิจารณาแล้ว ส่วนการที่บุคคลนั้นจะรอดพ้นจากการถูกลงโทษ ไม่ว่าด้วยเหตุผลประการใดนั้น เป็นปัจจัยรองและกรณีนี้ หลักฐานที่เชื่อถือได้ ก็เป็นหลักฐานจากศาลในไทย มิใช่ในต่างประเทศดังที่ท่านรองนายกอธิบายไว้ ถามว่า นายกรัฐมนตรีควรจะได้รู้ว่าการแต่งตั้งคุณอุตตมในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง มีปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน หรือไม่? ตอบว่า มี หนึ่ง คำพิพากษาเกิดขึ้นในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ภายหลังจากที่ ธปท. ร้องทุกข์กล่าวโทษ จึงถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ ธปท. จะต้องหยิบไปพิจารณา เมื่อศาลฯ วินิจฉัยว่าคณะกรรมการบริหารมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธปท. ธปท.ก็หนีไม่พ้นที่ต้องพิจารณาว่าจะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษคุณอุตตม หรือไม่ การที่ธปท.ร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่มีชื่อคุณอุตตม อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งธปท.จำเป็นต้องแก้ไข สอง ศาลฯ วินิจฉัยว่าคณะกรรมการบริหารมีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารกรุงไทยฯ และมีการพิพากษาให้กรรมการบริหาร ๓ รายชำระเงินชดใช้แก่ธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารกรุงไทยฯ จึงมีหน้าที่ต้องพิจารณาเรียกร้องให้คุณอุตตมชดใช้ในทำนองเดียวกัน