จากกรณีผู้เสียหายคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลเวย์โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียโดยระบุว่า ไม่ได้รับเงินเยียวยาตามคำพิพากษาศาลแพ่ง รวมถึง ครอบครัวญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 9 คน อีกทั้งผู้ก่อเหตุซึ่งขณะนั้นยังเป็นเยาวชน ก็ไม่เคยมาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายหรือฟังคำพิพากษาด้วยตนเองแต่อย่างใด ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว วันที่ 17 ก.ค.ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัด ยธ. เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าว ว่า คดีนี้ศาลแพ่งชั้นฎีกามีคำพากษาสั่งให้จำเลยชดใช้ผู้เสียหายประมาณ 26 ล้าน 8 แสนบาท เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่จำเลยไม่ติดต่อดำเนินการชดใช้ โดยทางผู้เสียหายหรือโจทก์มีหน้าที่ต้องไปยื่นคำฟ้องที่ศาลแพ่งเพื่อขอหมายบังคับคดี ซึ่งผู้เสียหายมีอำนาจที่จะเข้าไปสืบทรัพย์ของจำเลยทุกรายได้ว่ามีทรัพย์สินเท่าไหร่ ถือเป็นหน้าที่ของผู้เสียหายต้องดำเนินการสืบทรัพย์เอง แต่ปกติจะมีทนายเข้าไปทำหน้าที่แทนให้ ทั้งนี้ หากเป็นการฟ้องกลุ่มก็ให้คนใดคนหนึ่งไปดำเนินการได้และคนอื่นก็สามารถเข้าชื่อร่วมในภายหลังได้ เมื่อผู้เสียหายสืบทราบรายการทรัพย์สินทั้งหมดแล้วก็ต้องไปยื่นต่อกรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการอายัด ซึ่งไม่สามารถทำธุรกรรมได้และจะเข้าสู่กระบวนการนำทรัพย์ขายทอดตลาด ถ้าสืบทรัพย์ของจำเลยทั้ง 4 รายเพียงพอที่ศาลสั่งให้ชดใช้ก็เป็นอันจบไป หากจำนวนทรัพย์ไม่เพียงพอก็จะไปขั้นตอนการล้มละลายต่อไป โดยกระบวนนี้ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง นายธวัชชัย เผยอีกว่า สำหรับกระบวนการล้มละลายมีระยะเวลา 3 ปีและพ้นระยะเวลาดังกล่าวก็ขอปลดจากบุคคลล้มละลายได้ ซึ่งการเป็นบุคคลล้มละลายมีผลกระทบ เช่น ไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆได้เลยในช่วง 3 ปี และไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้โดยจะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าหน้าที่บังคับคดี หากได้รับอนุญาตต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินคดีด้วย นอกจากนี้ ถ้าจำเลยไม่มาพบเจ้าหน้าที่หรือไม่รายงานทรัพย์สิน รายได้ หรือระหว่างนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่บังคับคดีกำหนดไว้ก็มีผลให้การปลดออกจากบุคคลล้มละลายขยายระยะเวลาออกไปอีก 5-10 ปี ส่วนจะมีการยักยอกถ่ายเททรัพย์สินนั้นสามารถสืบค้นกระบวนการทำธุรกรรมย้อนหลังได้หมด ถ้าเป็นการทำที่ไม่สุจริตแล้วพบว่ามีใครเข้ามาผู้เกี่ยวข้องก็เอาผิดตามกฏหมายได้เพราะถือว่าเข้าสู่กระบวนการปกปิดทรัพย์สิน "ขอยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายซึ่งสามารถไกล่เกลี่ยได้ทุกขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่ชั้นสืบทรัพย์เสร็จเข้าสู่ขั้นตอนบังคับคดีก่อนที่จะเริ่มมีการทรัพย์สินขายทอดตลาด หรือระหว่างกระบวนการขายทอดตลอด และแม้กระทั่งขายทรัพย์ทอดตลาดเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ ถ้าหากผู้เสียหายรายใดไม่มีความพร้อมไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ เนื่องจากด้อยโอกาส เป็นคนยากจน ไม่มีงานทำ ก็สามารถติดต่อศูนย์บริการร่วม ชั้น 2 กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ซึ่งจะออกค่าทนายความและเงินวางศาลให้ทั้งหมดตั้งแต่ชั้นการสืบทรัพย์จนกระทั่งยื่นฟ้องจำเลยล้มละลาย"