วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีพร้อมชาวไทย-รามัญร่วมถวายเทียนพรรษาวัดชินวรารามวรวิหารสืบสานประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ เมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2562 ที่วัดชินวรารามวรวิหาร ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีและประชาชนชาวไทย รามัญ ร่วม ถวายเทียนพรรษาแด่พระมงคลวโรปการ เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหารเนื่องในวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ทุกรูปที่บวชใหม่และบวชมานานมีพรรษามาก จะอยู่ในแห่งหนตำบลใดก็ตาม เมื่อถึงวันนี้แล้วจะต้องทำพิธีอธิษฐานพรรษา กล่าวคืออธิษฐานเพื่ออยู่ประจำในวัดใดวัดหนึ่งที่ตนทำพิธีอธิษฐานนั้น ตลอดเวลา 3 เดือน ในฤดูฝน พระภิกษุสงฆ์ต้องจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ระหว่างแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เพื่อไม่ให้พระสงฆ์ไปเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวนาให้ได้รับความเสียหาย ในวันเข้าพรรษามีประเพณีที่สำคัญ 2 ประเพณี ได้แก่ "ประเพณีแห่เทียนพรรษา" และ"ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน" ประเพณีแห่งการถวายเทียนจำนำพรรษานั้น เนื่องจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน การนำเทียนไปถวาย ชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี การถวายเทียนจำนำพรรษาได้กระทำขึ้นก่อนเทศกาลเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาทุกปี คือก่อนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือเดือน 8 ที่สอง ในกรณีที่มีอธิกมาส พุทธศาสนิกชนก็จะพากันขวนขวายให้มีการถวายเทียนจำนำพรรษาแก่วัดในท้องถิ่นของตน เพื่อให้พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 เดือน สมัยก่อนเทียนพรรษามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะพระสงฆ์ต้องใช้จุดให้แสงสว่างในการศึกษาพระธรรมวินัย แต่ในปัจจุบันนั้นเทียนพรรษาอาจจะมีความสำคัญลดน้อยไป ญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาได้เปลี่ยนมาถวายหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย เป็นต้นแทน แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีการถวายเทียนพรรษากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของชาวพุทธไม่ให้สูญหายไป เนื่องจากมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน และที่ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงวัดชินวรารามวรวิหาร อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ส่วนใหญ่จะมีชาวมอญ รามัญ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่มาทำบุญส่วนใหญ่ เป็นชาวมอญ รามัญ ที่มีการแต่งกายด้วยสไบและผ้าถุงสีสันต่างๆ อย่างสวยงาม.