กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินยโสธร ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของดินและน้ำที่เป็นปัจจัยหลักในการปลูกพืช เกษตรกรในพื้นจังหวัดยโสธร ยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ เนื่องจากพืชหลักที่เกษตรกรปลูกนั้นคือข้าว ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เกษตรกรบางรายก็ยังคงปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีเกษตรกรที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว หันมาทำไร่นาสวนผสม จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ปลูกพืชได้อย่างหลากหลาย มีรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว นายบุญถม กุมพล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินยโสธร เปิดเผยหลังลงพื้นที่ว่า จังหวัดยโสธร มีพื้นที่ทั้งหมด 2.6 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ โดยพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ ก็จะมีการปลูกข้าวเป็นหลัก แล้วก็มีพืชเศรษฐกิจตัวอื่น อย่างเช่น มันสำปะหลัง อ้อย แล้วก็ยางพารา ก่อนที่พี่น้องเกษตรกรจะทำการปลูกพืชในพื้นที่ของตนเอง สถานีพัฒนาที่ดินยโสธร ก็จะมีข้อมูลในเรื่องของการพัฒนาที่ดิน ไว้ให้พี่น้องเกษตรกร ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลทรัพยากรดินในจังหวัดยโสธร และขอข้อมูลแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินระดับตำบล ข้อมูลดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินกับพืชเศรษฐกิจหลัก ดังนั้นก่อนพี่น้องเกษตรกรจะทำการเกษตรปลูกพืชชนิดใดก็ตาม สถานีพัฒนาที่ดินยโสธร ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับดินให้พี่น้องเกษตรกรได้มาศึกษา พอศึกษาในเรื่องของข้อมูลดินเสร็จแล้วเกษตรกร ก็สามารถที่จะวางแผนในการที่จะทำการเกษตรในพื้นที่ตนเอง ว่าพื้นที่ของเกษตรกรรายนั้นเหมาะสมในการที่จะปลูกพืชชนิดใด ซึ่งจะโยงไปถึงในเรื่องของการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้พืชที่ปลูกจะต้องมีตลาดรองรับ สถานีพัฒนาที่ดินยโสธร ยังมีการสาธิตสนับสนุนและส่งเสริม จนทำให้พื้นที่ของเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสม นั้นก็คือพื้นที่ของ ลุงสุริยา หงส์ลอยวงค์ หมอดินอาสาประจำตำบลคำน้ำสร้าง อ.กุดชุม จ.ยโสธร เริ่มต้นทำการเกษตรปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ได้ผลผลิตต่ำ จนกระทั่งได้เป็นหมอดินอาสาในปี พ.ศ.2538 เป็นระยะเวลากว่า 24 ปี แล้วเมื่อได้เป็นหมอดินอาสาก็ได้รับความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการดินให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อปลูกพืชที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากการขอแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานจากสถานีพัฒนาที่ดินยโสธร เริ่มปรับรูปแบบแปลงนา ปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ใส่ปุ๋ยหมักในพื้นที่เตรียมดินก่อนการเพาะปลูก จนทุกวันนี้พื้นที่ของลุงสุริยา ปลูกพืชผสมผสานได้อย่างหลากหลาย พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้าน ลุงสุริยา หงส์ลอยวงค์ หมอดินอาสาประจำตำบลคำน้ำสร้าง อ.กุดชุม จ.ยโสธร เล่าให้ฟังว่า พื้นที่กว่า 37 ไร่ ถูกแบ่งสันปันส่วนเป็น ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ การเกษตร และปศุสัตว์ จากพื้นที่ที่มีความคิดที่ว่าปลูกข้าวได้เพียงอย่างเดียว จนปัจจุบันนี้พื้นที่แห่งนี้เปิดเป็นศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินในปี 2555 ด้วยความที่ตนนั้น มีทั้งความขยัน ตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ที่ตนเองมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2562 และรางวัลชนะเลิศหมอดินอาสาดีเด่น จากกรมพัฒนาที่ดินอีกด้วย รางวัลที่ได้มานี้เป็นทั้งความภาคภูมิใจของครอบครัว และสถานีพัฒนาที่ยโสธร ที่มีบุคลากรหมอดินอาสาคนเก่ง พัฒนาดิน อนุรักษ์น้ำ มีใจรักษ์ในอาชีพเกษตรกร ปัจจัยหลักการทำการเกษตรนั้น ก็คือ ดินและน้ำ กว่าที่จะปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นไร่นาสวนผสมนั้นไม่ง่ายเลย ทางสถานีพัฒนาที่ดินยโสธร ก็คอยให้ความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ปุ๋ยหมักชีวภาพ พด.1 พด.2 และพด.7 สาธิตและส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบบ่อน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดินทำให้ดินที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย จนกระทั้งปัจจุบันนี้ ดิน ของลุงสุริยา กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ จึงส่งผลให้สิ่งแวดล้อมบริเวณสวนน่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ลุงสุริยา จึงอยากขอบคุณ สถานีพัฒนาที่ดินยโสธร และกรมพัฒนาที่ดิน ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาที่ดิน เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน