อ.เศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ เชียร์ รมว.เกษตรฯ คนใหม่ สานต่อโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา ลดพื้นที่นาปรัง ชี้เกิดผลประโยชน์โดยตรงถึงเกษตรกร มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจฐานราก กว่า 6 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 16 ก.ค.62 รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ผลวิจัยโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาฤดูแล้งปี 2561/62 ของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งริเริ่มโดยนายกฤษฎา บุญราช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการฯ นี้สามารถยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการคิดเป็นมูลค่า 654.55 ต่อไร่และที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคิดเป็นมูลค่า 616.92 บาทต่อไร่ เหตุผลที่โครงการนี้สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรที่ไม่ได้ร่วมโครงการด้วย เพราะการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ทำให้เกิดสมดุลการผลิตข้าว และราคาข้าวนาปรังไม่ตกต่ำ รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนผลผลิตข้าวโพดในประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 413.11 บาทต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการมีต้นทุนสูงขึ้น 330.88 บาทต่อไร่ ตามลำดับ และโดยภาพรวมต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 383.60 บาทต่อไร่เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนยังมีความรู้ในการปลูกข้าวโพดในนาน้อยและมีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดซึ่งเป็นครั้งแรกที่แมลงศัตรูพืชชนิดนี้ระบาดในไร่ข้าวโพด ดังนั้นเมื่อนำรายได้หักออกจากต้นทุนการผลิตพบว่าโครงการนี้ทำให้รายได้สุทธิต่อไร่ของเกษตรกที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 241.44 บาทต่อไร่ และกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 286.04 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการมี 813,598 ไร่ สามารถสร้างประโยชน์รวมในเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 6,081 ล้านบาท ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯมีอัตราการเผาเพื่อจัดการแปลงคิดเป็นร้อยละ 27.36 ของพื้นที่ที่เข้าร่วม โดยช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศลงร้อยละ 25.44 ผลตอบแทนจากการปลูกข้าวโพดหลังนา จะสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรังไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภัยแล้ง น้ำมีไม่เพียงพอตลอดฤดูเพาะปลูก ปัญหาการระบาดหนอนกระทู้ในหลายพื้นที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่งผลราคาขายข้าวโพดไม่ได้ราคาประกัน 8 บาทต่อกก. โครงการข้าวโพดหลังนาฤดูแล้งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจจากผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐบาลและ รมว.เกษตรฯคนใหม่ สมควรสานต่อ รวมทั้งส่งเสริมตลาด วางระบบเช่าซื้อเครื่องจักรกลเพื่อการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลง เพื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ มีระบบแจ้งเตือน ปริมาณน้ำ การป้องกันและจำกัดโรคแมลงโรคพืชต่างๆ ควรเพิ่มการดูแลการรับซื้อในราคาที่ยุติธรรม และส่งเสริมการปลูกในรูปแบบแปลงใหญ่ผ่านการขายให้กับสหกรณ์ จะช่วยให้เกษตรกรได้ราคาดีขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการทำเกษตรกรรมของประเทศชนิดอื่นๆ ด้วย