ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค.นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า...สวัสดีวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. 2562 ครับ ตอนนี้เรามีรัฐบาลประยุทธ์ 2 เต็มรูปแบบ การจะเริ่มทำงานได้เกือบสมบูรณ์แล้ว จะผ่านขบวนการเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ตามหมายวันที่ 16 ก.ค. และจะเสนอนโยบายต่อสภาสัปดาห์หน้า จากนั้นข่าวว่าจะลุยงานกันทันที เราประชาชนคนไทย คาดหวังอะไรทางเศรษฐกิจได้จากรัฐบาลประยุทธ์ 2 ขอทบทวนก่อนครับ รัฐบาลประยุทธ์ 2 เป็นการเมืองแบบ Hybrid คือมีผู้รับผิดชอบทางการเมืองทั้ง Election และ Selection ทั้งสายสภาและสายรัฐบาล รูปแบบการเมือง Hybrid เหมือนการเมืองสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกเปรม จากปี 2522-2531 เกิดจากรัฐธรรมนูญตอนนั้น ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐบาล / รัฐสภาเป็น Hybrid เหมือนกัน คงเพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญหลักทั้งปี 2522 และ 2560 คือ อ.มีชัย ฤชุพันธ์ เพียงแต่ตอนนั้นท่านเป็นเลขา มี อ.สมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธาน มาตอนนี้ท่านเป็นประธานเอง ขอเรียนว่า Background ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตอนนั้นต่างกับตอนนี้อย่างมาก ตอนนั้นการเมืองเรายังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงจากภัยนอกประเทศ กองทัพจึงมีบทบาทสำคัญ ตอนนี้ความมั่นคงจากภัยภายนอกไม่มี มีแต่ภายใน ที่คนไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยังมีการทะเลาะกัน กองทัพจึงสรุปว่า เรายังต้องสร้างความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจ ตอนนั้นคือปี 2522/23 เศรษฐกิจไทยแย่มาก เพราะวิกฤติราคาน้ำมันโลกครั้งที่สองขึ้นสูง จนเราต้องใช้รายได้จากการส่งออกกว่าครึ่งไปจ่ายค่าน้ำมันนำเข้า ดุลการชำระเงินเราติดลบ ดอกเบี้ยเราเกิน 15 % เราต้องขอ World Bank มาช่วย ขอกู้เงินที่เรียกว่า Structural Adjustment Loan – SAL คือไม่ใช่เงินกู้เพื่อมาทำโครงการ เป็นเงินกู้มาเสริมฐานะการเงินตราต่างประเทศ ในบัญชีดุลการชำระเงิน โดย World Bank ตั้งเงื่อนไขว่า เราต้องปรับโครงสร้าง ต้องปฎิรูปทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาดุลการชำระเงิน จึงทำให้เกิดนโนบาย “ ส่งออก ท่องเที่ยว ลงทุน ” ทั้งหมดเพื่อสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ โดยเราทำ Industrialization ครั้งใหญ่ที่เน้นการส่งออก มีโครงการ Eastern Seaboard เป็น Flagship ส่วนหนึ่งเพราะเราผลิตแก๊ซธรรมชาติได้ด้วย เราชวนบริษัทต่างประเทศมาลงทุน เพราะเราไม่มีเงินทุน โดยให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ รัฐบาลพลเอกเปรม ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี เศรษฐกิจฟื้น ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลงบประมาณเป็นบวกหมด เป็นผลงานสำคัญของรัฐบาล โดยการบริหารอาศัยทั้งกองทัพ Technocrats สว. และ สส. วันนี้ เวลานี้ เศรษฐกิจไทยต่างจากปี 2522/23 อย่างสิ้นเชิง เรามีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาต่อเนื่องกันกว่าสิบปีแล้ว เงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึงประมาณ 2 แสนล้านเหรียญ สภาพคล่องล้น เงินบาทแข็งเป็นหิน ดอกเบี้ยต่ำติดดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรของบริษัทขนาดใหญ่ก็ต่ำมาก ต่ำอยู่ในกลุ่มต่ำสุดของโลก นักวิเคราะห์เขาเรียกเราว่า ไทยเป็นประเทศโลกที่สาม คือกำลังพัฒนา แต่มีตลาดทุนเหมือนประเทศโลกที่หนึ่ง แสดงว่าเศรษฐกิจการเงินเรามีความผิดปกติอย่างแรง เงินในประเทศล้น แต่ธุรกิจขนาดเล็ก หาเงินได้อย่างยากลำบาก จึงเกิดปรากฎการณ์รวยกระจุก จนกระจายอย่างที่เห็นกันอยู่ แสดงว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังต้องมีการปฏิรูป ไม่รู้เหมือนการปฏิรูปที่คุณสุเทพ หัวหน้า กปปส. เคยเรียกร้องหรือไม่ อีกเรื่องที่วันนั้น 2522/23 ต่างกับวันนี้อย่างมาก คือวันนั้นเราต้องดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมทำ Industrialization ซึ่งต้องมี Economy of Scale จึงต้องมุ่งเน้นการส่งออก เพราะตลาดโลกใหญ่ แต่วันนี้ เราต้องทำ Digitalization คือต้องให้เกิดการใช้ IT เกิดการใช้ AI – Artificial Intelligence อย่างสะดวกและประหยัด จึงต้องจัดเรื่อง Digital Economy ให้ดีให้ได้ ซึ่งก็คือการบริหารจัดการคลื่นความถี่ เห็นชัดว่าเราพลาดมาแล้ว ประมูลคลื่น 4G ไป ก็ต้องไปผ่อนผันให้ผู้ประกอบการ คลื่น Digital TV ก็ต้องคืนเงินและรับคลื่นคืน โจทย์การทำ Digitalization ไม่เหมือน Industrialization คือ Economy of Scale ไม่สำคัญ เพราะจะผลิตที่ไหน ขายที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น อยู่ที่ต้องเก่งและไว รัฐบาลอาจช่วยได้ เช่น จีน มี Digital Park กว่าสองพันแห่ง ใน Park มีทุกอย่างที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ โดยจ่ายตามใช้ ไม่ต้องลงทุนเป็นเจ้าของโดยไม่จำเป็น และเมื่อโตแล้วอยู่เองได้ ก็ต้องย้ายออกจาก Park โจทย์ทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องตลาดเงินตลาดทุน และเรื่อง Digitalization วันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่หมด นอกจากนี้ ยังมีปัญหาปัจจุบัน ที่มาจาก Trade War ที่สหรัฐประกาศกับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ใช้ทั้ง Tariff และอัตราแลกเปลี่ยนมาสู้กัน และยังมีปัญหาเรื้อรังภายในเรื่องราคาพืชผล เรื่องค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ จึงต้องมีการประสานนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งถ้าดูจากโครงสร้างการแบ่งงานกันดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ จะหมายความว่ากระทรวงไหน รมว.อยู่พรรคไหน ก็รายงานผ่านรอง นรม. ของพรรคนั้น ไม่จำเป็น (และอาจไม่ต้องการ) ผ่านรอง นรม. ดร.สมคิด เห็นชัดว่า ตัวนายกรัฐมนตรีเองต้องเป็นผู้ประสาน ซึ่งสมัยพลเอกเปรมท่านก็ทำหน้าที่นั้น โดยมีครม.เศรษฐกิจ มีสภาพัฒน์ เป็นเลขา และมีที่ปรึกษาหลักที่เป็นอิสระทางการเมือง ซึ่งท่านก็ทำได้ เขียนเล่ามาให้ท่านประชาชนพิจารณา เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับประสบการณ์จากอดีต