นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตรการเรื่องเงินบาทแข็งค่าของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า...
“ธปท.เพิ่มมาตรการเรื่องเงินบาทแข็ง” ภายหลังจากผมวิจารณ์ว่าเงินบาทแข็ง ทำให้การบริหารเศรษฐกิจยากขึ้น เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ธปท.ได้ออก 2 มาตรการใหม่ 1) ปรับลดเพดานยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident : NR) จาก 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท 2) ยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ผมขอชมเชย ธปท.ที่ระบุว่าวันนี้กังวลมากขึ้นกับค่าเงินบาท ที่ปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว และแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ถามว่ามาตรการใหม่ของ ธปท.จะมีประสิทธิผลจริงหรือไม่? บัญชีเงินบาทสำหรับ non resident นั้น เป็นเพียงบัญชีพัก ต่างชาติที่ต้องการซื้อตราสารหนี้ในไทย โอนเงินเข้ามา ก็จะพักในบัญชีนี้ก่อน เมื่อซื้อตราสารได้ ก็จะโอนออกจากบัญชีไปชำระค่าตราสาร ดังนั้น การลดเพดานลงจาก 300 ล้านบาทเหลือ 200 ล้านบาท จึงจะหวังผลได้ไม่มากนัก เพราะต่างชาติเพียงแต่ซื้อตราสารให้เร็วขึ้น ก็สามารถบริหารยอดคงค้างในบัญชีให้เหลือต่ำกว่า 200 ล้านบาทได้ การยกระดับการรายงานนั้น เข้าท่ามาก เพราะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่นักลงทุนต่างชาติ และ ธปท.สามารถจ้ำจี้จ้ำไช ตั้งคำถามต่างๆ นาๆ สร้างความกังวล แต่ ธปท.ไม่ควรลืมว่า ปัจจัยหลักที่ดูดเงินไหลเข้ามานั้น คืออัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่สูงกว่าประเทศอื่น (เมื่อเปรียบเทียบตามสภาวะเศรษฐกิจ) และยิ่งขณะนี้ ข่าวว่าเฟดมีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยดอลลาร์กลับลงไป ก็จะยิ่งทำให้เงินสกุลเอเซียของประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ตกเป็นเป้าหนักขึ้น ดังนั้น จึงต้องติดตามว่า ตราบใดที่ ธปท.ไม่คิดปรับลดดอกเบี้ย มาตรการใหม่ข้างต้น จะได้ผลในการชะลอเงินบาทแข็งเพียงใด