แจงเพิ่งรับเรื่องเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา กำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการเพื่อพิจารณาออกประกาศสธ.รายชื่อตำรับยาหมอพื้นบ้านต่อไป ชี้ตำรับยาแต่ละประเภทมีขั้นตอนที่แตกต่างในการพิจารณา จากกรณีที่ 12 องค์กร เสนอข้อเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งขึ้นทะเบียนน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้าน อ.เดชา ศิริภัทร เพราะเมื่อเทียบกับรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ที่สูตรใกล้เคียงกัน แต่กลับได้รับการอนุญาตจาก อย แล้วนั้น นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า อย. ขอชี้แจงว่า ตำรับยากัญชาที่จะนำมาใช้รักษาโรคนั้น ต้องเป็นตำรับยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งตามประกาศก.สาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2562 กำหนดตำรับยาไว้ 5 ประเภท ได้แก่ 1.ตำรับยาที่ผ่านการรับรองการขึ้นทะเบียนตำรับ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีตำรับใด 2.ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ซึ่งมีประกาศแล้วทั้งหมด 16 ตำรับ ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตคือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร 3.ตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ภายใต้การรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Special Access Scheme) ซึ่งเป็นตำรับยาแผนปัจจุบัน ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับตาม 1) แต่มีการตรวจวิเคราะห์ และประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และมีระบบรายงานการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยจากการใช้ในผู้ป่วยทุกราย ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาต คือ องค์การเภสัชกรรม และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ 4.ตำรับยาที่ได้รับอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับอนุญาตจาก อย. และ 5.ตำรับยาที่หมอพื้นบ้านปรุงขึ้นและได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยกระบวนการขออนุญาตของตำรับยาแต่และประเภท มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน รองเลขาฯอย.กล่าวว่า สำหรับตำรับน้ำมันสกัดกัญชาของนายเดชา ศิริภัทร เป็นตำรับยาที่หมอพื้นบ้านปรุงจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามตำรับประเภทที่ 5 ซึ่งเมื่อผ่านการรับรองจากกรมการแพทย์  แผนไทยฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเสนอคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเพื่อพิจารณาออกประกาศก.สาธารณสุขเพื่อประกาศรายชื่อตำรับยากัญชาของหมอพื้นบ้านและเสนอรมว.สาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ อย. ได้รับเรื่องการขออนุญาตของนายเดชา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่1 ก.ค.62 ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอประกาศดังกล่าว ส่วนกรณีตำรับยาของรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ เป็นตำรับยาประเภทที่ 3 คือ ตำรับที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ภายใต้การรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Special Access Scheme) โดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องของ อย. ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน