สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ กลุ่มแพทย์เพื่อนสัตว์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และภาคีเครือข่ายเข้าหารืออธิบดีกรมปศุสัตว์ ประเด็นจริยธรรมต่อสัตว์ในฟาร์ม วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ที่กรมปศุสัตว์ กรุงเทพมหานคร กลุ่มแพทย์เพื่อนสัตว์นำ โดย นายสมประสงค์ โขมพัตร นายแพทย์ อาทิตย์ กุกเรยานายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ พญ. ช่อทิพย์ พัฒนะศรี นายโชคดี สมิทกิตติผล นายสัตวแพทย์ นฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม และคณะพร้อมด้วย นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และนาสาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมเครือข่าย เข้าหารือกับนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ถึงแนวทางและมาตรการจริยธรรมต่อสัตว์ในฟาร์ม นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ กล่าวว่าจากที่ได้เห็นข้อมูลเบื้องต้นของช่างภาพนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศแห่งหนึ่งในช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ที่โรงฆ่าสัตว์บางแห่งพบว่า มีวิธีการ การฆ่าหมูอย่างโหดเหี้ยมทารุณด้วยการทุบศีรษะด้วยกระบองจนตาย ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานกับสัตว์โดยไม่จำเป็น เครื่องช็อตไฟฟ้า (stunner) ที่มีอยู่ก็เป็นแบบทำเอง ไม่ได้มาตรฐานและพนักงานที่ทำงานใช้อย่างผิดวิธี เช่น ช็อตเข้าไปที่ลูกตาหมู ที่หลัง โดยไม่ได้ทำให้หมูสลบอย่างที่ควรจะเป็น สุดท้ายก็ต้องจบลงที่การทุบศีรษะ กลุ่มแพทย์เพื่อนสัตว์ พร้อมด้วยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยและองค์กรพิทักษ์แห่งโลกและองค์กรเครือข่ายสัตว์ เห็นว่ากระแสจริยธรรมต่อสัตว์เป็นกระแสโลก ที่ใหญ่มากขึ้นอย่างรวดเร็วและกำลังพัดมาทางทวีปเอเชีย ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นแต่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนก็จะพบเจอกับการเรียกร้องของผู้บริโภคทั่วโลกดังนั้นในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน จึงควรใช้โอกาสนี้ยึดหัวหาดเป็นผู้นำในเรื่องจริยธรรมต่อสัตว์ในฟาร์ม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับมาตรฐานจริยธรรม แต่เป็นยกระดับมาตรฐานการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นๆในภูมิภาค สำหรับประเด็นการหารือ เช่น แนวทางเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง การจัดอบรมแบบเป็นภาคบังคับ (Mandatory) ก่อนที่จะให้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ได้จริง การรายงานต่อสาธารณะชนถึงผลการสอบผ่าน ผลการประเมินโรงฆ่าสัตว์อย่างต่อเนื่องทุกปี มีวิธีการวัดผลการุณยฆาตได้อย่างแท้จริง (ไม่เพียงแต่ตรวจสอบเพียงว่ามีอุปกรณ์ที่เหมาะสมเท่านั้น) ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามหลักการของสิทธิผู้บริโภค เนื้อหาในการอบรมทางด้านเทคนิคและจะต้องให้มีการอบรมเรื่อง สิทธิของสัตว์ในฟาร์มที่มีสิทธิ จะมีชีวิตอยู่อย่างเหมาะสมตามธรรมชาติ โดยปราศจากความ เจ็บปวด ทรมาน ที่ไม่เป็นธรรม และให้โรงฆ่าสัตว์จะต้องมีกล้องวงจรปิดติดตั้งเพื่อการรับประกันว่าจะมีการทำตามกฎข้อบังคับอย่างแท้จริง นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เห็นว่า ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ก็ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง เรื่องดังกล่าวมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 และ กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ พ.ศ.2555 ได้กำหนดเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ข้อ 14 การฆ่าสัตว์ต้องฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ และผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เช่น จัดให้มีการพักสัตว์ภายในระยะเวลาอันเหมาะสม งดให้อาหารสัตว์ก่อนทำการฆ่า มีขั้นตอนทำให้สัตว์สลบโดยปราศจากความทุกข์ทรมานหรือความเจ็บปวดทางร่างกายก่อนการฆ่าสัตว์ และเลือกใช้วิธีการฆ่าสัตว์ที่เหมาะสมกับชนิดของสัตว์ ยกเว้นการฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือข้อบัญญัติทางศาสนา ต้องมีการบันทึกข้อมูลการตรวจโรคสัตว์ก่อนทำการฆ่าสัตว์และตรวจเนื้อสัตว์และซากสัตว์หลังการทำการฆ่าสัตว์ และมีมาตรการป้องกันไม่ให้เนื้อสัตว์และซากสัตว์ปนเปื้อนกับสิ่งสกปรก เป็นต้น อย่างไรก็ตามหลังจากที่มี พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 กรมปศุสัตว์ ก็ได้ทำการติดตามประเมินผลการขอใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ อย่างจริงจัง เช่น มีการเพิกถอนใบอนุญาตสำหรับโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้ทำตามระเบียบ กว่า 11 โรง และพักใช้ใบอนุญาตกว่า 59 โรงและมีการตรวจสอบจับกุมโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันกว่า 513 ครั้ง และส่งดำเนินคดีกว่า 100 คดี ซึ่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างการรับรู้ของประชาชน และเพิ่มช่องทางในการในการสื่อสารถึงประชาชนโดยตรงมากยิ่งขึ้น เช่น การร้องเรียนผ่าน Application DLD 4.0 เป็นต้น ดังนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ในการสร้างการมีส่วนร่วมและบูรณาการร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันสอดส่องดูแลแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้โรงฆ่าสัตว์เข้าสู่มาตรฐาน GMP ทั่วประเทศร่วมกันต่อไป