ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีญาติติดใจขั้นตอนการตรวจรักษาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งปล่อยให้นักเรียนหญิง ม.6 ช็อคจนเสียชีวิต ขณะที่แพทย์ระบุ เบื้องต้นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นไข้เลือดออกเดงกีรุนแรง มีการช็อคซ้ำ 2 รอบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากกรณี น.ส.หัทยา หงษ์ชารี อายุ 19 ปี หรือน้องกุ๊กไก่ นักเรียนชั้น ม.6 นักเรียนเรียนดีโรงเรียนดงมูลวิทยาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ซึ่งญาติระบุว่าเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ พร้อมทั้งติดใจในการรักษาของโรงพยาบาล หลังจากนำตัวลูกสาวส่งไปยังโรงพยาบาลในช่วงเวลาตี 4 แต่พยาบาลกลับวัดความดันและวัดไข้แล้วบอกว่าอาการปกติดี พร้อมให้กลับไปก่อน และให้มาตรวจใหม่ในช่วงเวลา 08.00-09.00 น.จนทำให้น.ส.หัทยา เกิดอาการช็อค จึงนำตัวส่งโรงยาบาลจ.กาฬสินธุ์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น แต่ก็เสียชีวิต โดยญาติได้นำศพกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านในอ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งญาติเรียกร้องให้มีการตรวจสอบระบบการรักษาของโรงพยาบาล ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายชาญชัย ศรศรีวิชัย ปลัด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมให้กับใจกับครอบครัวของน.ส.หัทยา หงษ์ชารี อายุ 19 ปี หรือน้องกุ๊กไก่ ที่บ้านเลขที่ 119 หมู่ 13 ต.ดงมูล อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือครอบครัว โดยมีนายสมบูรณ์ หงษ์ชารี อายุ 48 ปี ผู้เป็นพ่อ และนางสมส่า หงส์ชารี อายุ 48 ปี ผู้เป็นแม่ พร้อมด้วยเพื่อนนักเรียน คณะครู และญาติกำลังที่จะทำพิธีฌาปนกิจในวันนี้ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจที่น้องกุ๊กไก่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน นายสมบูรณ์ หงษ์ชารี อายุ 48 ปี พ่อน้องกุ๊กไก่ กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระบบการให้บริการ และกำชับเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจผู้ป่วยมากกว่านี้ ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าไม่มีใครอยากให้น้องเสียชีวิต และเมื่อเสียชีวิตแล้วก็เอาคืนไม่ได้ ซึ่งติดใจเพียงแค่ว่าในช่วงที่ตนพาลูกสาวไปส่งโรงพยาบาลทำไมเจ้าหน้าที่ถึงตรวจเพียงแค่วัดความดัน วัดไข้ และบอกว่าไม่มีอะไร แถมยังให้กลับบ้านแล้วค่อยมาใหม่ ทั้งๆที่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่าก่อนที่จะนำตัวมานั้นลูกสาวอาเจียน และมีไข้สูง ดังนั้นจึงอยากให้เอากรณีของลูกสาวตนเป็นตัวอย่างศึกษาและปรับปรุงแก้ไข เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกับใครอีก ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น.วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์พรพัฒน์ ภูนากลม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาคู ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาศาสตร์ป้องกัน (ระบาดวิทยา) ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ รองผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ และโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกันแถลงถึงสาเหตุของการเสียชีวิตของ น.ส.หัทยา หงส์ชารี ในเบื้องต้น พร้อมทั้งสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลังญาติผู้เสียชีวิตติดใจขั้นตอนระบบการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลหนองกุงศรี โดยเฉพาะกรณีที่ให้ผู้ป่วยกลับบ้านแล้วมาตรวจรักษาใหม่จนเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตดังกล่าว นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต สำหรับกรณีปัญหาการติดใจของผู้ปกครองน้องกุ๊กไก่ต่อระบบการรักษาของโรงพยาบาลหนองกุงศรีนั้น เบื้องต้นได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ และนายชาญชัย ศรศรีวิชัย ปลัด จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นและเช็คประวัติการรักษาแล้ว ซึ่งให้ตรวจสอบโดยว่ากันไปตามข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ยืนยันว่าหากพบว่าขบวนการไม่เป็นไปตามความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการจะต้องดำเนินการเต็มที่โดยไม่มีละเว้น และหากผลการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการผิดเพี้ยนหรือบกพร่องก็จะต้องมีการดำเนินการเยียวยาต่อไป ขณะที่นายแพทย์พรพัฒน์ ภูนากลม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาคู ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาศาสตร์ป้องกัน (ระบาดวิทยา) ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วของสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น โดยการสอบสวน ประเมินพื้นที่ และติดตามควบคุมโรคแล้ว สำหรับกรณีของ น.ส.หัทยา หงษ์ชารี อายุ 19 ปี หรือน้องกุ๊กไก่ ตามข้อมูลนั้นเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 จากนั้นไปรับการรักษาที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.หนองกุงศรีก่อนในช่วงเช้า ซึ่งทางคลินิกได้แนะนำว่าหากอาการไม่ดีขึ้นก็ให้ไปเจาะเลือดตรวจที่โรงพยาบาล กระทั่งวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ผู้ปกครองได้พาไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหนองกุงศรี และทำการเจาะเลือดครั้งแรก ซึ่งผลเลือดครั้งแรกอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีเม็ดเลือดเลือดขาวต่ำเล็กน้อย ส่วนเกร็ดเลือดปกติ ยังไม่เข้าข่ายไข้เลือดออก ซึ่งทางโรงพยาบาลได้นัดตรวจซ้ำในช่วงเช้าเวลาประมาณ 09.00 น.วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 แต่ระหว่างคืนวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 น้องกุ๊กไก่มีอาการไข้สูง อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ กระทั่งช่วงเวลา 03.00 น.ญาติได้พาน้องไปโรงพยาบาลอีกครั้งที่ห้องฉุกเฉิน นายแพทย์พรพัฒน์ กล่าวต่อว่า แรกรับเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจและวัดไข้ได้ 36.7 องศา ชีพจร 88 ครั้งต่อนาที ความดัน 100 กับ 60 ซึ่งอาการช่วงเวลานี้ยังถือว่าไม่เข้าสู่ระยะช็อค แต่เนื่องจากจะต้องรอการตรวจในช่วงเวลา 09.00 น.และยังเหลือเวลาอีกนาน ประกอบกับอาการยังดีอยู่ เจ้าหน้าที่จึงให้น้องกลับไปพักผ่อนที่บ้านแล้วค่อยกลับมาตรวจเลือดในเวลา 09.00 น.ซึ่งมีอาการเริ่มช๊อคในช่วงนี้ ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงได้ให้น้ำเกลือจนความดันกลับขึ้นมาปกติและรู้สึกตัวดี จึงได้นำตัวส่งต่อไปยังโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ซึ่งความดันยังปกติและพักรักษาตัวได้ 1 คืน แต่ในช่วงเช้าของวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 น้องกุ๊กไก่กลับมีอาการช็อคซ้ำ เป็นปรากฏการณ์ที่พิเศษไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะมีการช็อค 2 รอบ ทางแพทย์โรงพยาบาลกาฬสินธุ์จึงได้ทำการรักษาให้ยาชนิดต่างๆ และให้น้ำเกลือแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น จึงนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลจ.ขอนแก่น ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์พรพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีอาการของน้องกุ๊กไก่ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอาการไข้เพียง 4 วันก็เสียชีวิต และมีการพบแพทย์ค่อนข้างเร็วแต่ก็เสียชีวิต อีกทั้งยังมีอาการช็อคซ้ำถึง 2 ครั้งในช่วง 2-3 วันแรก ซึ่งเพิ่งปรากฏ อย่างไรก็ตามสำหรับสาเหตุการเสียชีวิตนั้น เบื้องต้นเข้าข่ายเป็นโรคไข้เลือดออก จึงได้ส่งเลือดไปตรวจยืนยัน เพื่อระบุสายพันธุ์ และระบุความรุนแรง แต่ในเบื้องต้นพบว่าเป็นโรคไข้เลือดออกเดงกีช็อคที่รุนแรง มีอาการเลือดรั่วเร็ว ช็อคเร็ว และช็อคซ้ำ จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เสียชีวิตเร็ว ทั้งนี้หลังเกิดกรณีดังกล่าวจะมีการทบทวนขบวนการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยจะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ส่วนกรณีที่ญาติติดใจขั้นตอนการรักษาของโรงพยาบาลนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่เบื้องต้นพบว่าในช่วงเวลาที่ตรวจนั้นมีพยาบาลเป็นผู้ตรวจ ก่อนจะมีการรายแพทย์ สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 497 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งที่ผ่านมาทุกหน่วยงานได้รณรงค์ให้ประชาชนป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเต็มที่