นักวิชาการสถาบันการศึกษาชื่อดังจาก 10 ประเทศ ร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 “นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อความยั่งยืน” พร้อมโชว์ศักยภาพมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์คู่ชุมชน วันที่ 15 กรกฎาคม 2561 ที่ห้องประชุมแพรวา ชั้น 9 อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 1 เรื่องนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อความยั่งยืน โดยมีสถาบันการศึกษา นักวิชาการจาก 10 ประเทศชั้นนำเข้าร่วม โดยมี นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ นายกสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และเครือข่าย เป็นเจ้าภาพหลักร่วมให้การต้อนรับและรับฟังการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Management Technological Innovation โดย Prof.Yeon Gi Son จากประเทศเกาหลีใต้ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ นายกสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งที่ 1 เป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยฯ ที่ดำเนินการจัดการประชุมที่รวบรวมเอานักวิชาการจาก 10 ประเทศมารวมไว้ที่เดียวกัน ถือว่าได้รับความร่วมมืออันดีจากหลายภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยและกัลยาณมิตรจาก 10 ประเทศชั้นนำ โดยเฉพาะคณาจารย์ที่มาร่วมบรรยายพิเศษและนำเสนอผลงานจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นแรงจูงใจให้กับครูผู้สอนได้พัฒนาด้านการสอนให้หลากหลายมีต้นแบบ สำหรับการประชุมวิชาการฯ มีหัวข้อวิชาการที่จะนำเสนอในครั้งนี้มากกว่า 100 เรื่อง ใน 8 หมวดหมู่ ประกอบด้วย กลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มเกษตรศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มการศึกษา กลุ่มบริหารธุรกิจ การบริการและการท่องเที่ยว กลุ่มกฎหมาย การเมือง การปกครอง และกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขณะเดียวกันด้านศักยภาพคณาจารย์ครูผู้สอนในรั้วมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มีศักยภาพด้านงานวิจัยสูง จะต้องทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน ถือเป็นโจทย์สำคัญของบทบาทมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่จะอยู่คู่กับชุมชน ด้าน รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการเป็นการเปิดเวทีให้กับนักศึกษา และคณะครูอาจารย์ได้เข้ามาตักตวงความรู้จากนักวิชาการระดับชาติหลายประเทศที่เดินทางมาร่วมครั้งนี้ นอกจากนี้ในความตั้งใจจริงคือการนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับพื้นที่สภาพของประเทศไทย ที่จะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดด้วยนวัตกรรมแปลกใหม่จากผลการวิจัยที่สัมฤทธิ์ผลแล้ว